You are currently viewing TH Sarabun IT9 สร้างปัญหา เลิกใช้เถอะ

TH Sarabun IT9 สร้างปัญหา เลิกใช้เถอะ

Th Sarabun IT9 หรือ TH Sarabun IT๙ นี่ยังมีคนใช้งานเยอะอยู่เหมือนกัน และเจ้าฟอนต์นี้ก็ถือเป็นแรงบันดาลใจให้ ทำบล็อกนี้ขึ้นเพื่อบันทึกและข้อสังเกตจากการทำงาน และได้ข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่าคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยากเสียเวลากับการเรียนรู้เรื่องพื้นฐาน ว่าอะไรเหมาะกับอะไร และมีไว้เพื่อทำอะไร ควรใช้อย่างไร?

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องผิดหรือประหลาดอะไร แต่ถ้าไม่เรียนรู้หลักการทำงานพื้นฐานก็จะทำให้เกิดปัญหาในอนาคตเหมือนการสร้างบ้านจะเอาแต่ให้มันเสร็จเป็นรูปร่างตามใจโดยไม่เคยเรียนรู้ว่าโครงสร้างมีอะไรบ้างเดี๋ยวบ้านก็ถล่มทับตาย!

Th Sarabun IT9

Th Sarabun PSK: ฟอนต์แห่งชาติ! และตัวเลขไทย

เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553 คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นมีมติออกมาว่าหน่วยงานราชการจะต้องใช้ ฟอนต์แห่งชาติ ของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือที่รู้จักกันว่า SIPA และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีทั้งสิ้น 13 ชุดแบบอักษร โดยกำหนดว่าให้ใช้ชุดแบบอักษร TH Sarabun PSK (ไทยสารบรรณพีเอสเค) เป็นชุดแบบอักษรหลัก ฟอนต์นี้ออกแบบโดยคุณ ศุภกิจ เฉลิมลาภ ผู้ร่วมก่อตั้ง KATATRAD (กะทัดรัด) บริษัทจำหน่ายฟอนต์กลุ่มบริษัทคัดสรรดีมาก

เรื่องนี้เห็นด้วยเต็มที่ เพราะหลายคนมองข้ามเรื่องลิขสิทธิ์ฟอนต์ คิดแต่ว่ามันเป็นของฟรีมากับเครื่อง ซึ่งไม่ได้เป็นเช่นนั้น ฟอนต์ทุกตัวมีลิขสิทธิ์ เพียงแต่เป็นลิขสิทธิ์แบบไหนเท่านั้นเอง คนใช้คอมพิวเตอร์ระบบปฏิบัติการวินโดว์มักจะคิดว่า Angsana Cordia ฯลฯ ที่มากับระบบปฏิบัติการเป็นของฟรี (ซึ่งไมโครซอฟต์ก็ให้ใช้ได้เต็มที่ รายละเอียดเพิ่มเติมลองอ่านที่ https://docs.microsoft.com/en-us/typography/font-list/angsana-new)

ก่อนหน้าจะมีฟอนต์แห่งชาติชุดนี้ ในอดีตเมื่อนานพอสมควรแล้ว ทางเน็กเท็ก เคยจัดทำฟอนต์โดยได้รับความร่วมมือจากผู้คร่ำหวอดในวงการออกแบบตัวอักษรสำเร็จมาเป็นฟอนต์ 3 ชุดแบบอักษร ได้รับพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามมกุฎราชกุมารีว่า นรสีห์ ครุฑ และ กินรี ฟอนต์กลุ่มนี้แพร่หลายในกลุ่มผู้ใช้งาน LaTex เพราะติดตั้งมาเป็นฟอนต์มาตรฐาน แต่ในกลุ่มคนใช้งานอื่นแทบไม่มีใครสนใจใช้

ปัจจุบันฟอนต์เหล่านี้อยู่ในโครงการ fonts-tlwg กับฟอนต์ที่ได้รับสัญญาอนุญาตให้ใช้งานโดยเสรี ไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ (เข้าไปดูได้ที่ http://github.com/tlwg)

ย้อนกลับมาที่ฟอนต์ TH Sarabun PSK กันต่อ ก่อนออกทะเลไปไกล

จากปลายปี พ.ศ. 2553 มาถึงปัจจุบัน 10 ปีพอดี (ณ วันที่เผยแพร่บล็อกนี้) ได้เห็นอะไรที่สะท้อนความคิดของระบบราชการผ่านตัวอักษรชุดไทยสารบัญนี้ไม่น้อยเหมือนกัน อย่างเช่น ทุกวันนี้ก็ยังใช้ฟอนต์ TH Sarabun PSK กันเหนียวแน่น แม้ว่าคุณศุภกิจ เฉลิมลาภ ผู้ออกแบบชุดแบบอักษรจะได้ออกชุดใหม่คือ TH Sarabun New มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 แล้วก็ตาม (อัปเดต ล่าสุด ณ ตอนนี้คือ 2566 สถานการณ์ยังเหมือนเดิม)

Th Sarabun New

หลังจากที่คณะรัฐมนตรี ประกาศให้ฟอนต์ TH Sarabun PSK (ซึ่งฟอนต์นี้ได้เผยแพร่มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2550) เป็นฟอนต์ทางการสำหรับราชการแล้ว มีคนรายงานปัญหาว่าตัวอักษรไม่ค่อยชัด เมื่อสืบหาเหตุผลแล้วได้ความว่าเป็นเพราะจอภาพมีคุณภาพต่ำ เมื่อใช้ตัวอักษรขนาดเล็กจึงมองไม่ชัด คุณศุภกิจจึงได้ปรับปรุงเป็น TH Sarabun New เพื่อให้เห็นในจอภาพชัดเจนขึ้น (ทั้งนี้หากพิมพ์ออกมา ฟอนต์จะชัดเจนไม่แตกต่างกัน หรือถ้าแตกต่างกันก็จะแตกต่างกันเล็กน้อยมากจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น)

แต่ถึงทุกวันนี้หน่วยงานราชการแทบทุกที่ยังคงใช้ TH Sarabun PSK แม้ตัวผู้ประดิษฐ์จะแนะนำให้ใช้ TH Sarabun New ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่า ผู้คนส่วนหนึ่งไม่รู้หรือไม่สนใจว่ามี TH Sarabun New อยู่ในโลกนี้ ให้ใช้ TH Sarabun PSK ก็จะตะบี้ตะบันใช้ต่อไป

แต่อีกส่วนหนึ่งให้ความเห็นว่ามติครม. ระบุว่า TH Sarabun PSK ก็ต้องใช้ TH Sarabun PSK ขืนไปใช้ TH Sarabun New จะเป็นการขัดมติครม. อันนี้ก็มีเหตุผลอยู่นะจ๊ะสาธุชน

แถมยังมีระเบียบจากสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาด้วยว่า ถ้าเป็นเอกสารที่ต้องแลกเปลี่ยนกันระหว่างหน่วยงาน ต้องใช้ TH Sarabun PSK เพื่อให้เปิดที่เครื่องไหน หน่วยงานไหนก็ได้รูปแบบเหมือนกัน

เรื่องนี้ไม่ว่ากัน ต้องเข้าใจว่าเป็นราชการก็ต้องยึดติดกับคำสั่ง ระเบียบโดยเคร่งครัด และเหตุผลเรื่องการเปิดเครื่องไหนจะได้เหมือนกันก็เป็นเหตุผลที่มีน้ำหนัก

คุณศุภกิจ ผู้ออกแบบจะแนะนำให้ใช้ TH Sarabun New เพราะเป็นรุ่นปรับปรุง แต่ถ้าใช้ TH Sarabun PSK ก็ไม่มีปัญหา ชุดแบบอักษรทั้งสองชุดเป็นเหมือนกันหมดทั้งช่องไฟ ระยะห่างตัวอักษร ฯลฯ

สำหรับผู้ที่อยากได้ฟอนต์ Sarabun ที่มีรูปแบบตัวอักษรในน้ำหนักต่างๆ สำหรับใช้งานอาร์ตเวิร์คต่าง ๆ ทางคุณศุภกิจได้ออกแบบฟอนต์ชื่อ สารบรรณใหม่ ขายกันเป็นน้ำหนักตัวอักษร (เช่น ตัวบาง ตัวหนามาก ตัวหนา-เอียง) น้ำหนักละ 11,800 บาท ซื้อครบเซ็ต 8 น้ำหนักราคา 65,000 บาท ซื้อได้ที่เว็บ katatrad.com

Th Sarabun IT9

การใช้ฟอนต์ TH Sarabun PSK หรือ TH Sarabun New ไม่ใช่ปัญหาใหญ่เท่าใดนัก ปัญหามาเกิดตอนมีใครสักคน (ที่น่าจะไม่ใช่ตัวคุณศุภกิจ ผู้ออกแบบ TH Sarabun) นำ TH Sarabun PSK ไปดัดแปลงเป็น TH Sarabun IT๙

เนื่องจากสิ่งที่มาพร้อมกับการประกาศฟอนต์แห่งชาติก็คือ ให้นิยมไทยใช้ตัวเลขไทยแทนตัวเลขอารบิกด้วยนะ พอให้ใช้ตัวเลขไทยแทนเลขอารบิกก็มีคนนำ TH Sarabun PSK มาดัดแปลงจนเกิดฟอนต์ TH Sarabun IT๙ ขึ้น กดเลขอารบิกตรงแป้นตัวเลขก็ออกมาเป็นเลขไทย! กด 1 ก็ได้ ๑ กด 2 ก็ได้ ๒

คุณพระ! มันช่างยอดเยี่ยมอะไรเช่นนั้น!!

แต่พอรู้หลักการทำงานแล้วหลายคนที่ต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์มากกว่ากระดาษได้แต่อุทานในใจว่า “พ่องตาย” และยิ่ง “พ่องตาย” มากขึ้นเมื่อฝ่ายไอทีของหน่วยงานราชการเสือกส่งเสริมให้ใช้ เผยแพร่แจกจ่ายกระจายไปทั่วราวกับเป็นสิ่งที่ดีงามผุดผ่อง

ทั้งนี้เพราะผู้นำฟอนต์มาดัดแปลง (โดยไม่เกี่ยวข้องอะไรกับคุณศุภกิจ ผู้ออกแบบฟอสต์สารบรรณเลย) ใช้วิธีแก้ปัญหาเรื่องเลขไทย-เลขอารบิกเอาง่ายเข้าว่า โดยไม่สนใจระบบจัดเก็บข้อมูลเลยแม้แต่น้อย เข้าข่ายที่เขียนถึงตอนต้นคือ “เรียนลัด เอาแต่ผลลัพธ์โดยไม่สนใจกับเรื่องพื้นฐาน” อยากสร้างบ้านให้สวยแต่ไม่สนใจเรื่องคาน เสา ฐานราก

TH Sarabun IT9 ซึ่งแก้ปัญหาให้พิมพ์ง่าย กลายเป็นตัวปัญหาสำหรับคนที่ต้องการนำข้อมูลไปใช้ต่อในเชิง DATABASE เป็นอย่างมากเพราะดัดแปลงแบบอักษรดื้อ ๆ เมื่อพิมพ์ “1” จะแสดงเป็น “๑” มองผ่าน ๆ อาจจะนึกว่าไม่มีปัญหาอะไร แค่ 1 กับ ๑ มันก็เหมือนกัน

จ้ะ! ในสายตามนุษย์อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ 1 กับ ๑ เหมือนกัน แต่ในระบบคอมพิวเตอร์ 1 กับ ๑ มันคนละรหัสกันนะจ๊ะ

ยกตัวอย่างเห็นภาพง่ายที่สุด พิมพ์เอกสารด้วยฟอนต์ TH Sarabun IT๙ ไปหลายสิบหน้า จู่ ๆ มีเหตุให้ต้องเปลี่ยนฟอนต์ เช่นเปลี่ยนเป็น TH Krub หรือ TH Chakra Petch หรือ ฟอนต์อื่นในฟอนต์แห่งชาติทั้ง 13 ชุดแบบอักษร ที่เราเห็นเป็นเลขไทยเช่น ๑ ๒ ๓ ๔ ฯ เมื่อครั้งใช้ TH Sarabun IT๙ จะกลับกลายเป็น 1 2 3 4 ฯ เหมือนเดิม

หรือใช้ฟอนท์สารบัญไอที๙ พิมพ์ 1234 ในแป้นพิมพ์โหมดอารบิก (แสดงผลให้เราเห็นเป็น ๑๒๓๔) แต่พอแก้เลข ๒ เป็นเลข ๔ ตอนที่เปลี่ยนเป็นภาษาไทย ใช้แป้นพิมพ์ไทย ผลยังเห็นเป็น ๑๔๓๔ หากต้องเปลี่ยนเป็นฟอนต์อื่น จะกลายเป็น 1๔34

ลองนึกว่าต้องเปลี่ยนฟอนต์แล้วต้องมาแก้ตัวเลขเหล่านี้ที่หลังจะรู้สึกอย่างไร

พอจะเข้าใจปัญหาที่จะเกิดขึ้นหรือไม่?

การแก้ปัญหาด้วยการคิด (และใช้) TH Sarabun IT๙ สะท้อนว่าอยากได้วิธีลัด โดยไม่ศึกษาทำความเข้าใจระบบการทำงานพื้นฐานตั้งแต่แรก ใช้วิธีลัดเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นครั้งไป ลองนึกว่าถ้าเอกสารหนึ่งจำเป็นต้องมีเลขอารบิก ใช้ TH Sarabun IT๙ จะไม่เป็นเลขอารบิกเลย

อย่างเช่นชื่อเฉพาะทางวิทยาศาสตร์ หรือชื่อระวาง-แผ่นที่ ก็ไม่ควรใช้เลขไทย 5136IV 6622–12 ไม่ควรพิมพ์เป็น ๕๑๓๖IV ๖๖๒๒-๑๖ เพราะเป็นรหัสชุดยูทีเอ็ม พอใช้ TH Sarabun IT๙ มันก็ออกมาเป็นเลขไทย

กลายเป็นว่า ถ้าอยากจะพิมพ์เป็นตัวเลขอารบิก ก็ต้องใช้ฟอนต์อื่น!

อันนี้ลองไตร่ตรองดูสักนิดว่า เรื่องนี้มันใช่เรื่องสมควรหรือไม่?

ที่สำคัญคือ คอมพิวเตอร์เก็บข้อมูลเป็นรหัสข้อมูลตัวอักษร อย่างเช่น คาแร็กเตอร์โคดของเลข 1 คือ 0031 แต่เลข ๑ คือ 0E51 ถ้าใช้ฟังก์ชัน find หรือนำไปใช้กับระบบดาต้าเบสที่เก็บตัวเลขจำนวนมากเรื่องแบบนี้ทำให้ผลลัพธ์ผิดพลาดเพราะรหัสที่เก็บเป็นคนละรหัส ถ้านำไปใช้กับระบบดาต้าเบสที่เก็บตัวเลขจำนวนมากเรื่องแบบนี้ทำให้ผลลัพธ์ผิดพลาดเพราะรหัสที่เก็บเป็นคนละรหัส

หรือ ที่เคยเจอคือจัดหน้ากระดาษด้วย Word ธรรมดานี่แหละ แต่เนื่องจากถ้าตั้งค่าความห่างระหว่างบรรทัดเป็น single ตามที่ระเบียบสารบัญของราชการแล้ว พบว่ามีปัญหาระยะห่างระหว่างบรรทัดมันห่าง ซึ่งเรื่องนี้จะแนะนำให้แก้เป็นเปลี่ยนระยะห่างระหว่างบรรทัดเป็น exactly ขนาด 18.5 (ที่มาก็คือ ระยะห่างระหว่างบรรทัดจะเป็น 115% ของขนาดตัวอักษร ตัวอักษรมาตรฐานคือ 16 เมื่อคิด 115% จะได้ 18.4 ปัดเป็น 18.5) แต่เจอน้องที่ทำงานคนหนึ่งเรียกไปแก้ปัญหา ว่ามีบรรทัดหนึ่ง ระยะห่างระหว่างบรรทัดกระโดดห่างแปลกไปจากบรรทัดอื่น ตรวจสอบไปมาพบว่า น้องคนนั้นใช้ TH Sarabun IT๙ ผสม TH Sarabun PSK

ดังนั้น ถ้าใครยังใช้ TH Sarabun IT๙ ได้โปรดนำฟอนต์ออกจากเครื่อง เลิกใช้เถอะ ถ้าต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องเปลี่ยนตัวเลขอารบิกเป็นเลขไทย กรุณาอ่าน

เปลี่ยนเลขอาราบิกเป็นเลขไทยใน Excel

เปลี่ยนเลขไทยใน Word

ปัจจุบันบริษัทคัดสรรได้นำฟอนต์สารบรรณ หลายน้ำหนัก และปรับขนาดให้เหมาะสมกับการทำงานร่วมกับฟอนต์อื่น ใส่ไว้ในกูเกิลฟอนต์ให้ใช้ได้ด้วย เว็บ DataRevol.com ก็ใช้ฟอนต์สารบรรณจากกูเกิลฟอนต์)

อัปเดต

TH Sarabun Chula

สำหรับ ฟอนต์ตระกูล TH Sarabun ล่าสุดที่ออกมาก็คือ ฟอนต์ TH Sarabun Chula ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างคุณ ศุภกิจ เฉลิมลาภ กับ ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ เป็นฟอนต์ที่พัฒนาต่อจาก TH Sarabun New โดยเพิ่มเติมเครื่องหมายสัทอักษรจำนวนมาก เพื่อให้สามารถพิมพ์ข้อความที่มีภาษาไทยและการถ่ายถอดเสียงปะปนกันได้โดยไม่ต้องสลับฟอนต์

ดาวน์โหลดฟอนต์นี้ได้ที่ https://www.arts.chula.ac.th/ling/sdm_downloads/th-sarabun-chula/