You are currently viewing วันเดือนปี ใน excel

วันเดือนปี ใน excel

วันเดือนปี ใน excel ดูจะเป็นเรื่องพื้น ๆ แต่ เชื่อหรือไม่ว่า ในการทำงานกับ Excel ที่ผ่านมา พบปัญหาเรื่อง format วันเดือนปี ค่อนข้างบ่อย แม้จะขอร้องแกมบังคับให้ผู้ร่วมงานบันทึกให้ตรงตามรูปแบบแต่ก็มีปัญหาเกิดขึ้นทุกครั้ง และต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะกันเรื่อยไปจนเริ่มระอาใจ แต่บางครั้งก็เป็นเหตุสุดวิสัย อย่างเช่น ปัญหาเรื่องบันทึกผิด จากปีค.ศ. เป็น ปีพ.ศ. อย่างที่เคยเขียนไปแล้ว

ก่อนอื่น ขอบอกก่อนว่า ได้เขียนเกี่ยวกับเรื่อง “วันที่” ไว้หลายเรื่อง ดังนี้

คำแนะนำ วันเดือนปี ใน excel

กฎข้อที่ 1 ของการบันทึกวันที่ใน Excel คือ อย่าชาตินิยมในตอนนี้ เอาจริง ควรเลิกชาตินิยมตอนใช้งานคอมพิวเตอร์ เพราะคนคิดค้นมันไม่ใช่คนไทย แม้จะมีการปรับปรุงให้เข้ากับอะไรแบบไทย ๆ พอสมควรแล้วก็ตาม อย่าใช้เลขไทย และ บันทึกเป็น ปีคริสต์ศักราช เท่านั้น อย่าบันทึกเป็นปีพุทธศักราช เพราะคนคิดค้น Excel ไม่ใช่คนไทย ทุกอย่างบันทึกแบบฝรั่งหมด เพียงแต่ให้แสดงผลเป็นรูปแบบไทยไทยเท่านั้นเอง

อย่างเช่น เราจะบันทึกวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ อย่าพิมพ์ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ให้พิมพ์เป็น 10/11/2020 แทน แล้วค่อยไป format เป็นรูปแบบที่เราต้องการ

ถ้าพิมพ์ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ อย่างที่ต้องการไปตรง ๆ จะเป็นอย่างไร

วันเดือนปี ใน excel

มันก็ดูดีเนอะ ไม่เห็นมีอะไรผิดปรกติ

แต่…สังเกตมั้ยว่า มันเป็นชิดทางด้านขวาของ Cell

เวลาดู Excel ถ้าไม่ได้จัด ชิดซ้าย ชิดขวา เอาไว้ ลองสังเกตการจัดชิดซ้ายขวาตามมาตรฐานของ Excel ถ้าเป็นกลุ่ม Numbers จะชิดซ้าย ถ้าเป็น Text จะชิดขวา

สำหรับ วันเดือนปี ใน excel จะเก็บไว้ในรูปแบบ Numbers สามารถนำไปคำนวณได้ อย่างที่เคยเขียนถึงลักษณะการเก็บข้อมูลวันที่ของ Excel ไปแล้วครั้งหนึ่งว่า ความจริง excel เก็บข้อมูลเป็นวันเรียงลำดับนับจาก 1 มกราคม ค.ศ. 1900

ถ้า พิมพ์เข้าไปแล้ว วันที่ชิดขวา โดยที่ไม่ได้จัดรูปแบบให้ชิดขวาไว้ ก็หมายความว่า values นั้นเก็บเป็น Text หรือ ข้อความ ซึ่งไม่สามารถนำไปคำนวณอะไรต่อได้เลย

วิธีจัดการ วันเดือนปี ใน excel

การแสดงผลต่าง ๆ ที่อยากให้ Excel แสดง อยากให้ไปตรงส่วน Format Cell หรือ Custom Format Numbers ที่เคยเขียนถึงแล้ว

คลิกขวาที่ Cell เลือก Format Cells แล้วคลิกแท็บ Number เลือก Date แล้วหารูปแบบที่ต้องการ ถ้าอยากให้แสดงเป็นเลขไทย ใช้ปีพุทธศักราช ก็ให้เป็นไทย และ Calendar แบบ Buddhist ก็ได้แล้ว

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก เว็บไซต์ของไมโครซอฟต์

บางคนเห็นแล้วอาจจะบอกว่า ไม่ได้! เพราะไม่มีคำว่า “พ.ศ.” อย่างที่ต้องการ

โอเค งั้นคลิกเลือก custom แล้วพิมพ์อักขระต่อไปนี้

[$-th-TH,D07]d mmmm พ.ศ. yyyy;@ 

เป็นการบอก Excel ว่าจะใช้ locale แบบ [$-th-TH,D07] ก็คือเลขไทย-พุทธศักราช หลังจากนั้นคือ format ของวัน เดือน และปี ปิดท้ายด้วย @ เป็นการระบุว่าให้เก็บเป็นตัวเลข เพื่อจะนำไปใช้งานคำนวณต่อได้

วันเดือนปี ใน excel

Format วันเดือนปี ใน excel

สำหรับการแสดงผล วันเดือนปี ใน excel สามารถใช้แบบสำเร็จรูป ที่ Excel ทำมาให้สำเร็จแล้วก็ได้ วิธีการเรียกใช้ ก็เพียงแค่คลิกขวาที่ Cell เลือก Format Cells แล้วไปที่แท็บ Number เลือก Date จะมีตัวอย่างให้เห็นหลากหลาย หรือจะไปที่ ribbon Home ไปที่แท็บ Numbers กดลูกศรตรงมุมขวาล่าง ก็ได้เหมือนกัน

หรือ ถ้าอยากจะใช้ Custom Number Formats ก็สามารถใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ ดังนี้

สัญลักษณ์ความหมาย
dแสดงวันเป็นตัวเลขโดยไม่มีเลขศูนย์นำหน้า
ddแสดงวันเป็นตัวเลขโดยมีเลขศูนย์นำหน้าตามที่เหมาะสม
dddแสดงวันเป็นตัวอักษรย่อ (อา. ถึง ส.)
ddddแสดงวันเป็นชื่อเต็มของวัน (อาทิตย์ ถึง เสาร์)
mแสดงเดือนเป็นตัวเลขโดยไม่มีเลขศูนย์นำหน้า
mmแสดงเดือนเป็นตัวเลขโดยมีเลขศูนย์นำหน้าตามที่เหมาะสม
mmmแสดงเดือนเป็นตัวอักษรย่อ (มค. ถึง ธค.)
mmmmแสดงเดือนเป็นชื่อเต็มของเดือน (มกราคม ถึง ธันวาคม)
mmmmmแสดงเดือนเป็นตัวอักษรเพียงตัวเดียว (ม ถึง ธ)
yyแสดงปีเป็นตัวเลขสองหลัก
yyyyแสดงปีเป็นตัวเลขสี่หลัก
ตารางแสดงสัญลักษณ์ที่ใช้ใน Custom Number Formats

ข้อแนะนำการบันทึกวันที่ใน excel

การบันทึกวันที่ใน Excel นั้น ควรตรวจสอบก่อนว่า ได้กำหนด Regional Setting ของ Windows ไว้เป็นแบบไหน ตั้งเป็น USA หรือว่า Thai หรืออื่น ๆ

ถ้าเป็น USA จะบันทึกในรูปแบบ เดือน/วัน/ปี แต่ถ้าเป็น Thai หรือ UK (หรือ ฯลฯ) จะเป็น วัน/เดือน/ปี ถ้าใส่เวลา ให้ใส่ “:” คั่น คือ ชั่วโมง:นาที:วินาที อันนี้ก็งงกับอเมริกาเหมือนกัน ทำไมไม่ทำอะไรให้เหมือนที่อื่นเขา

อันนี้จะมีปัญหา เวลานำเข้า ส่งออกไฟล์เป็น Text ไปอื่น ๆ แล้วอาจจะมีปัญหาได้

และถึงแม้จะตั้งค่า Regional Setting เป็น Thai ก็ควรบันทึกเป็น ค.ศ. ไม่ใช่ พ.ศ. โปรดแสดงผลเป็น พ.ศ. ด้วย Format ตามที่แนะนำข้างต้น และเลขปี ค.ศ. ต้องใส่ให้ครบ 4 ตัว เพื่อป้องกันความผิดพลาด เช่น ถ้าเราใส่เพียงแค่ 20 จะเป็นค.ศ. 2020 แต่ถ้าใส่ 30 จะเป็น ค.ศ. 1930 ไป

อันนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยมาก เวลาคนบันทึกว่า 21/3/63 คนมักจะคิดว่าบันทึกว่า 21 มีนาคม พ.ศ. 2563 แต่กลายเป็น 21 มีนาคม ค.ศ. 1963 ไปเสียอย่างนั้น แต่ก็มีวิธีแก้ปัญหาโดยใช้ ฟังก์ชัน DATE

อันนี้ก็เป็นข้อแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับการบันทึกวันที่ใน Excel ถ้าสนใจเรื่องฟังก์ชัน DateDif, Today สำหรับนับวัน โปรดอ่านเรื่อง ฟังก์ชันเกี่ยวกับวันที่


Discover more from Data Revol

Subscribe to get the latest posts sent to your email.