You are currently viewing ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์

ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์

ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ Geographic Information System เป็นระบบที่แสดงความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ ซึ่งจะว่าไปหลายคนมักจะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ตอนที่มาทำงานที่นี่ไม่เคยคิดว่าจะต้องมาเกี่ยวข้องกับ สมัยนั้นคอมพิวเตอร์ยังราคาแพง การนำเสนองานยังใช้โปรเจ็กเตอร์ แต่พอทำงานได้สักปีหนึ่งก็รู้จักโปรแกรม ArcView 2 กับวินโดว์ 98 ต่อมาก็เป็น ArcView 3 

น่าเสียดายที่ปัจจุบันนี้ทาง ESRI ได้ยุติการสนับสนุน ArcView 3 ไปแล้วตั้งแต่ออก ArcGIS มาแทน แต่เชื่อหรือไม่ว่าทุกวันนี้ก็ยังแอบใช้ ArcView 3 อยู่จนถึงปี 2557 – 2558 และรู้สึกว่ามีคนแอบใช้งาน ArcView 3 มากอยู่เหมือนกัน เพราะเร็ว คล่องตัวกว่า งานบางอย่างไม่จำเป็นต้องใช้ ArcGIS เพราะเครื่องมือเยอะเกินความจำเป็น เครื่องเริ่มช้าอืดอาด

ต่อมาถึงได้เริ่มใช้ QGIS สำหรับงานทั่วไปแทน ArcVIew เพราะมันเล็ก และใช้ทำงานแทนได้ค่อนข้างดี ที่สำคัญเป็นฟรีซอฟต์แวร์

จากวันนั้นมาถึงทุกวันนี้ รู้สึกว่า ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ช่วยให้ทำงานสะดวกมากกว่าเดิม ทำให้มองเห็นข้อมูลเชิงพื้นที่ได้สะดวก กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด ใช้ทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจจะไม่เต็มรูปแบบเท่าไหร่ อาจจะไม่ได้สักเสี้ยวด้วยซ้ำ ตรวจเช็คความเปลี่ยนแปลงและจุดสำคัญยากต้องเสียเวลาตรวจสอบเยอะ

ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์

บางคนพอพูดถึง ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ มักคิดถึง ArcGIS หรือ QGIS เท่านั้น ความจริงทั้งสองอย่างเป็นเพียงแค่เครื่องมือหนึ่งเท่านั้นเอง ยังมีองค์ประกอบอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องอีกหลายอย่าง 

“ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์” เป็นคำไทยของ Geographic Information System หรือเรียกย่อ ๆ ว่า GIS ซึ่งโดยชื่อเรียกก็ได้กำหนดนิยามในตัวเองอยู่แล้วว่าจะต้องมี (1) Geographic หรือ ภูมิศาสตร์ (2) Information หรือสารสนเทศ และ (3) System หรือ ระบบ ซึ่งทั้งสามส่วนมีความสำคัญไม่แพ้กัน

ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์

มาดูทีละตัว

ภูมิศาสตร์ (Geographic)

ภูมิศาสตร์ คือ ลักษณะทางกายภาพของสิ่งต่าง ๆ บนพื้นโลก เช่น ถนน แม่น้ำ ภูเขา อาคาร สถานที่ สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ พื้นที่ป่าไม้ พื้นที่เกษตรกรรม ระดับความสูงหรือความลึก เป็นต้น ในแผนที่จะแสดงลักษณะทางกายภาพเหล่านั้นเป็นหมวดหมู่ดังนี้

  1. ลักษณะที่เป็นจุด (points) เช่น ที่ตั้งของสถานที จุดสังเกต หมู่บ้าน โรงเรียน สถานีตำรวจ สำนักงานเขต ฯลฯ
  2. ลักษณะเป็นเส้น (lines / arcs) เช่น ถนน เส้นแม่น้ำลำคลอง ทางรถไฟ เส้นแสดงความสูงหรือความลึก ฯลฯ
  3. ลักษณะที่เป็นพื้นที่ (polygons) เช่น พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ป่าไม้ พื้นที่แหล่งน้ำ ฯลฯ

จำไว้ว่า ทั้ง Point Line และ Polygon ทั้งสามอย่างนี้คือสิ่งที่จะต้องกำหนดตำแหน่ง หรือ สามารถระบุตำแหน่งแห่งหนบนโลกใบนี้ (หรือโลกอื่น ?) ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ต่อไปจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของ Datum หรือว่า ระบบพิกัด

สารสนเทศ (Information)

สารสนเทศ หรือ information ต่างจากข้อมูลทั่วไป (data) ตรงที่สารสนเทศจะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ประมวลผลแล้ว เช่นเรามีข้อมูลของอายุ เพศ ของประชากรในจังหวัดหนึ่ง ตรงนี้เป็นแค่ข้อมูล สารสนเทศคือนำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์ จัดกลุ่มเช่น คนส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุใด หรือสัดส่วนระหว่างเพศกับอายุของประชากรเป็นอย่างไร แบบนี้คือการนำข้อมูลมาประมวลผลเป็นสารสนเทศ

ระบบ (Systems)

ระบบเป็นส่วนสำคัญในการจัดเก็บข้อมูล และคนมักจะมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย เพราะถ้าไม่จัดระบบให้ดี ต่อให้มี สารสนเทศ หรือ ข้อมูลภูมิศาสตร์ ดีแค่ไหนก็ไม่สามารถรีดผลลัพธ์ได้เต็มประสิทธิภาพ จะแบ่งองค์ประกอบของระบบเป็นสามส่วนคือ

  1. Computer Hardware System – เครื่องคอมพิวเตอร์ สแกน พรินเตอร์ ฯลฯ
  2. Database and Database Management System – ระบบจัดการฐานข้อมูล
  3. GIS Software โปรแกรมทางด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์ (อย่างเช่น ArcGIS, MapInfo) จะแสดงข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Data) คือข้อมูลที่ทราบตำแหน่งบนพื้นโลกสามารถอ้างอิงพิกัดทางภูมิศาสตร์ได้ (geo-reference)

นี่คือความหมายเบื้องต้น ของคำทั้งสามคำที่ประกอบกันเป็น Geographic Information System

สรุปได้ว่า นี่คือระบบเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ คือจะต้องมีข้อมูลอะไรสักอย่าง ที่เกี่ยวกับตำแหน่งแห่งหนตรงจุดไหน หรือ พื้นที่ไหนสักแห่ง คือ ถ้ามีข้อมูลอย่างเดียว เช่น ผู้ชาย 2,000 คน ผู้หญิง 3,500 คน ไม่มีตำแหน่งแห่งหนระบุแบบนี้คือ ข้อมูลลอย แต่ถ้าระบุเพิ่มเป็น อาคารสุริยเทพอมตมหานิรันดร์อนันตกาล มีผู้ชาย 2,000 คน ผู้หญิง 3,500 คน โดยระบุเป็น Point ในแผ่นที่ หรือ อาจจะสร้างของเขตเป็น polygon ที่ระบุที่ตั้งได้ แบบนี้จึงจะเข้าข่าย

ซึ่งสิ่งที่สำคัญมากคือเรื่อง Database Management System คือต้องเข้าใจว่ามีข้อมูลอะไรบ้าง และต้องรู้ว่าจะเอาข้อมูลไปทำอะไร ไม่เช่นนั้นเราอาจเก็บแต่ข้อมูลขยะ ซึ่งทำให้การประมวลล่าช้า หรือไม่ได้ผลลัพธ์ตรงตามเป้าหมายที่วงเอาไว้ (แต่อาจจะพอกล้อมแกล้มไปได้ว่านี่คือ Big Data มหาประลัย)

ทำไม Database Management System จึงสำคัญ? ลองนึกดูข้อมูลปริมาณมากที่ไม่ได้จัดเก็บให้เรียบร้อย ไม่ได้จัดเก็บเป็นหมวดหมู่ตั้งแต่แรก อะไรจะโยงกับอะไร? อะไรสำคัญ อะไรเป็นข้อมูลขยะ? เรื่องพวกนี้จะสร้างความปวดหัวได้มหาศาลถ้าไม่คิดไว้ล่วงหน้า

ต้องเก็บอะไร?

ก่อนจะไปถึงเรื่องว่า “ต้องเก็บอะไร” คงต้องมาทำความเข้าใจเรื่องกระบวนการในการวิเคราะห์ข้อมูลก่อน ซึ่ง โดยทั่วไป จะมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วนที่สำคัญคือ การสร้าง การวิเคราะห์ และการนำเสนอการสร้างข้อมูล

การสร้างข้อมูล

จะสร้างข้อมูลอย่างไร? ก่อนจะวางแผนการทำงานเกี่ยวกับ GIS จะต้องมีความเข้าใจเรื่องข้อมูลที่จะต้องใช้ทำงานให้ดีเสียก่อน คือ

  • ต้องรู้ประเภทและลักษณะเฉพาะของข้อมูล ตัวอย่างเช่น จะเก็บข้อมูลชื่อถนน เราอาจจะต้องมาคิดว่า จะเอาไปใช้อะไรต่อ? การเก็บข้อมูลชื่อถนนยาว ๆ เช่น “ถนนสายรองแยกจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ในเขตอำเภอนั้น จังหวัดนี้” มันจะเหมาะสมหรือเปล่า? ข้อมูลบางอย่างเป็นตัวเลข เช่น โค้ด หรือ รหัส เช่น 001 002 แทนค่าอะไรสักอย่าง เราควรเก็บไว้เป็น Text หรือว่า Number
  • เข้าใจลักษณะเฉพาะและข้อจำกัดของข้อมูลประเภทต่าง ๆ เช่น ข้อมูล Raster เหมาะกับอะไร? บอกรายละเอียดอะไรได้? ข้อมูลเป็นตัวเลข นำไปคำนวณอะไรได้? ถ้าเก็บข้อมูลประเภท Point จะแสดงอะไรได้บ้าง ทำอะไรไม่ได้บ้าง?
  • สร้าง / จัดเก็บ และวางระบบข้อมูลโดยใช้เครื่องมือที่แตกต่างกัน

ทั้งสามข้อนี้ หมายถึงว่าต้องนำเข้าข้อมูล (ไม่ว่าจะมาจาก GPS หรือข้อมูลในตาราง สแกนแผนที่ ตรึงแผนที่ หรือจะดิจิไทซ์ ฯลฯ) โดยเข้าใจว่าสิ่งที่ทำแต่ละประเภทเหมาะสำหรับนำไปใช้อะไร และจัดหมวดหมู่เพื่อให้นำมาใช้งานได้สะดวกเป็นระบบ เช่น ข้อมูลบางอย่างควรเก็บเป็นรูปพื้นที่ปิด (Polygon) แต่บางอย่างใช้แค่จุด (Point) ก็พอแล้ว

ขั้นตอนนี้สำคัญมาก เพราะถ้าข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ไม่ดี เก็บข้อมูลผิดประเภทหรือจัดเก็บไม่เป็นระบบ จะทำให้การทำงานในขั้นต่อไปไร้คุณภาพ อย่างเช่นข้อมูลเกี่ยวกับแปลงที่ดิน แต่เก็บข้อมูลเป็นจุด อาจจะมีข้อมูลระวาง-แผ่น-เลขที่ดินอยู่ก็จริง แต่เกิดสักวันแปลงที่ดินแปลงนั้นรวมแปลงหรือว่าแบ่งแยก ก็จะไม่รู้เลยว่ามีอะไรแบบนั้น ไม่ได้คิดให้ไกลเป็นระบบว่าแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าขอบเขตที่ดินอยู่ถึงไหน ชนกับที่ดินแปลงใดบ้าง แบบนี้ก็จะทำให้เสียเวลาไม่มีประสิทธิภาพ

การวิเคราะห์ข้อมูล

สิ่งที่สำคัญคือ

  • เข้าใจกระบวนการและใช้วิธีที่เหมาะสม
  • รู้ว่าข้อมูลเป็นข้อมูลแบบไหน
  • รู้ว่าสิ่งที่ต้องการวิเคราะห์เกี่ยวข้องกับข้อมูลอะไรบ้าง จะหามาได้อย่างไรและนำมาใช้อย่างไร
  • วิเคราะห์โดยใช้เทคโนโลยี่ที่แตกต่างกัน

การวิเคราะห์ข้อมูลหมายถึงการนำข้อมูลที่เรามีมาจำแนกแยกแยะและตีความ ต้องสามารถสร้างกระบวนการจัดเก็บและการคัดแยกนำข้อมูลมาจัดกลุ่มได้

การนำเสนอข้อมูล

เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลแล้ว สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปคือการนำเสนอข้อมูล (ที่ผ่านการวิเคราะห์แล้ว) ให้คนอื่นเข้าใจ สิ่งสำคัญคือ

  • เข้าใจและสามารถใช้กระบวนการที่แตกต่างกัน
  • รู้จักใช้สัญลักษณ์แตกต่างกันตามการวางแผนงาน
  • และสิ่งเหล่านั้นจะต้องเป็นไปตามหลักการพื้นฐานที่ยอมรับกันโดยทั่วไป

การนำเสนอข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่าต้องการจะบอกหรืออธิบายเรื่องอะไร

ซึ่งทั้ง 3 หัวเรื่องนี้เป็นเรื่องของการจัดวางระบบการทำงาน การวิเคราะห์ และการนำเสนอ ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี

อ้างอิง