Vector – เวกเตอร์เป็นการแสดงผลในซอฟต์แวร์ GIS ที่ระบุตำแหน่งแห่งหนในพื้นโลกใบนี้ พร้อมด้วยตารางคุณลักษณะ หรือ แอตทริบิวต์ (Attribute) ประกอบฟีเจอร์นั้น ๆ
อย่างเช่น เราวาดแผนที่ตำแหน่งของบ้าน และใส่ข้อมูลแอตทริบิวต์เป็น บ้านเลขที่ ปีที่สร้าง จำนวนผู้อยู่อาศัยในบ้านนั้น หรือ ตำแหน่งของต้นไม้และใส่ข้อมูลแอตทริบิวต์เป็น ประเภทต้นไม้ ปีที่ปลูก แบบนี้เป็นต้น
เนื้อหาโดยรวม :)
Vector คืออะไร
ESRI Shapefile ที่คนทำงานด้าน GIS คุ้นเคยก็คือเวกเตอร์ จะมีรูปร่างเป็นรูปทรงเรขาคณิต (geometry) ประกอบด้วยจุดที่เชื่อมต่อกันซึ่งเรียกว่า vertex อย่างน้อย 1 จุด ซึ่ง vertex แต่ละจุดจะมีพิกัด X และ Y และบางครั้งก็มีพิกัด Z สำหรับความสูงหรือความลึก
ข้อมูลจำเพาะเกี่ยวกับ shapefile
ค่า X, Y เหล่านี้ก็คือการกำหนดพิกัดตำแหน่งบนโลกนี้ ด้วยระบบอ้างอิงพิกัดอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งปัจจุบัน มักจะนิยมระบบอ้างอิงเป็นลองจิจูดและละติจูด เส้นลองจิจูดวิ่งจากขั้วโลกเหนือไปยังขั้วโลกใต้ เส้นละติจูดวิ่งจากตะวันออกไปตะวันตก
เราสามารถบอกคนทั้งโลก ให้รู้ได้อย่างแม่นยำตามสมควรว่าเราอยู่ ณ ตำแหน่งใดในโลกในใบนี้ ด้วยให้ลองจิจูด (X) และละติจูด (Y) หรือในบางกรณี อาจจะใส่ค่า Z เพื่อบอกว่าอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลเพียงใดประกอบด้วย
ถ้ามี vertex เพียงแค่จุดเดียว เราเรียกว่า point (หรือจุด)
ถ้ามี vertex 2 จุดขึ้นไป แต่จุดสุดท้ายไม่บรรจบกัน เราเรียกว่า polyline (หรือเส้น) จะมีเส้นลากระหว่าง vertex แต่ละจุด
ถ้ามี vertex ตั้งแต่ 3 จุดขึ้นไป และ vertex สุดท้ายบรรจบจุดแรก จะเกิดลักษณะรูปหลายเหลี่ยมแบบปิด เรียกว่า polygon หรือ รูปพื้นที่ปิด
การเลือกว่าจะใช้เวกเตอร์ประเภทใด ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับสถานการณ์และสิ่งที่ต้องการแสดง อย่างเช่น ถ้าเราแสดงพื้นที่แบบภาพรวม การใช้ point แทนที่ตั้งของบ้าน อาจจะช่วยแสดงความหนาแน่นของจำนวนบ้านได้ดีกว่า แต่เมื่อเราซูมเข้าไปในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งโดยเจาะจง เช่นถนนเส้นใดเส้นหนึ่งในระยะไม่ไกลมาก การแสดงขอบเขตบ้านด้วย polygon อาจจะเหมาะสมมากกว่า
ข้อดีของการใช้ point ก็คือ ความสะดวก ใช้เวลาน้อยกว่าและสร้างได้ง่ายกว่าการสร้าง polygon และการแสดงคุณลักษณะของบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องแสดงพื้นที่ อย่างเช่น ต้นไม้ ตู้เอทีเอ็ม เสาไฟฟ้า เหล่านี้อาจจะไม่จำเป็นจะต้องทำเป็น polygon ให้เสียเวลา
แต่ถ้าเราต้องการคุณลักษณะเชิงเส้น เช่น ถนน แม่น้ำ เส้นโพลีไลน์ ก็คงจะตอบโจทย์ในเรื่องลักษณะทิศทางโดยทั่วไป รวมทั้งแอตทริบิวต์ที่บอกว่า พื้นผิวเป็นคอนกรีต หรือ ราดยาง จำนวนกี่เลน อยู่ในความดูแลของใคร เป็นต้น และเรายังสามารถใช้แอตทริบิวต์เหล่านี้เพื่อแสดงสัญลักษณ์ของเส้นที่แตกต่างกันทั้งความหนาและสีหรือสไตล์เส้นที่แตกต่างกันไป
ข้อมูล Vector บอกอะไรเราได้บ้าง
จากเวกเตอร์แต่ละประเภทที่เขียนถึงด้านบน เมื่อนำมาอยู่ในซอฟต์แวร์ GIS จะกำหนดแต่เป็นเลเยอร์ โดยที่เลเยอร์หนึ่ง จะเป็นรูปทรงเรขาคณิต หรือ geometry แบบเดียวดัน เช่น ถ้าเป็นประเภท พอยต์ เลเยอร์นั้นจะเป็นพอยต์ทั้งหมด และจะมีแอตทริบิวต์ประเภทเดียวกัน
สิ่งที่เราเห็น อาจจะเป็นเพียงแค่แผนที่ซึ่งเราคุ้นเคย แต่ ศักยภาพของ GIS จะแสดงให้เห็นเมื่อเราตั้งคำถามขึ้นมา
อย่างเช่น เราอาจจะตั้งคำถามว่า จำนวนบ้าน หรือ บ้านใดบ้าง ที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรจากโรงพยาบาล?
หรือ เราอาจตั้งคำถามว่า ในพื้นที่ห่างจากถนนเส้นนี้ 1 กิโลเมตร มีตู้เอทีเอ็มกี่เครื่อง?
แน่นอนว่า ก่อนจะตอบคำถามเหล่านี้ได้ เราต้องมีข้อมูลของสิ่งเหล่านี้เก็บเอาไว้ก่อน แต่ กระบวนการตอบคำถามเหล่านี้ก็คือ “การวิเคราะห์เชิงพื้นที่” หรือ spatial analysisซึ่งนอกจากตำแหน่งที่ระบุได้ชัดเจนแล้ว ยังต้องพึ่งพาแอตทริบิวต์ด้วยอย่างมาก