Vector Attribute – เวกเตอร์แอตทริบิวต์ คือสิ่งที่ประกอบร่วมอยู่กับรูปทรงเรขาคณิตหรือ geometry อยู่ในรูปแบบตารางเพื่อใช้เก็บข้อมูล ช่วยทำให้แผนที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น
และเป็นส่วนที่แสดงคุณลักษณะข้อมูล หรือ information ประจำเวกเตอร์นั้น
หากนึกไม่ออก ลองนึกถึงว่า เมื่อเปิดแผนที่ขึ้นมา ภาพที่เห็นเป็นเส้นประกอบรวมกันเป็นแผนที่ ดันมีความกว้าง สี เหมือนกันทุกอย่าง จะเป็นอย่างไร
ก็เป็นแผนที่นั่นแหละ แต่ จะสร้างความลำบากในการแยกแยะความแตกต่างของสิ่งที่เราเห็น หรือ แยกออกยาก ตรงไหนเป็นแม่น้ำ คลอง หรือ ซอยทาง หรือ ทางหลวงแผ่นดิน? ทุกอย่างใช้เส้นแบบเดียวกันหมดทุกอย่าง
แผนที่ที่ดี จะใช้สี ขนาดเส้น และสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อช่วยบอกความแตกต่าง ใช้เป็นตัวแทนอะไรบางอย่างที่เห็นได้ชัดเจน การวาดแม่น้ำโดยใช้เส้นและสีที่แตกต่างจากถนน หรือการเน้นให้เห็นจุดหมายหรือสถานที่สำคัญพิเศษเด่นชัด อาจจะโดยการสร้างสีของพื้นที่นั้นให้แตกต่างจากสิ่งอื่นรอบข้าง
ใน ซอฟต์แวร์ GIS เราสามารถสั่งให้แสดงผลที่แตกต่างกัน โดยใช้ข้อมูลในแอตทริบิวต์
อย่างเช่น สิ่งที่เป็น ถนน ซอย ทาง หรือ แม่น้ำ ลำคลอง เราสามารถเก็บประเภทของสิ่งเหล่านั้นไว้ใน แอตทริบิวต์ และกำหนดการแสดงผลในแผนที่ด้วย symbology
โดยปกติแล้ว ซอฟต์แวร์ GIS จะให้ตั้งค่าสัญลักษณ์ของเลเยอร์ สามารถเลือกสีและรูปแบบสัญลักษณ์ได้ ขึ้นอยู่กับประเภทเรขาคณิตของเลเยอร์ อาจแสดงตัวเลือกต่าง ๆ เพิ่มเติม ตัวอย่างเช่น เลเยอร์พอยต์ เลือกรูปแบบเครื่องหมายได้ เลเยอร์เส้นและรูปหลายเหลี่ยมไม่มีตัวเลือกสไตล์เครื่องหมาย แต่เลือกสไตล์และสีของเส้นแทนได้ เช่น สีส้มประสำหรับถนนลูกรัง สีแดงสำหรับถนนรอง เป็นต้น เลเยอร์โพลีกอน ยังมีตัวเลือกในการตั้งค่าสไตล์การเติมและสี
Spatial Analysis
ในซอฟต์แวร์ GIS ทั้งหลาย สามารถใช้ข้อมูลในแอตทริบิวต์เหล่านี้เป็นตัวกำหนดคุณลักษณะในการแสดงผลผ่านแผนที่ได้ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าการแสดงผลที่แตกต่างนั้นก็คือ ข้อมูลแอตทริบิวต์จะมีประโยชน์อย่างมากในการวิเคราะห์เชิงพื้นที่
การวิเคราะห์เชิงพื้นที่ หรือ Spatial Analysis ช่วยให้เราสามารถศึกษาคุณลักษณะ และความเกี่ยวพันต่าง ๆ เช่น หาจำนวนบ้านที่มีผู้อยู่อาศัยมากกว่า 2 คน หาถนนที่มีความกว้างมากกว่า 5 เมตร หรือ อื่น ๆ
ข้อมูลแอตทริบิวต์จัดเก็บไว้ในตาราง เราคงคุ้นเคยกันถ้าใช้ ไมโครซอฟต์เอ็กเซลหรือแอกเซสกันบ่อย ๆ หน้าตาจะเป็นแบบเดียวกันเลย แต่จะมีความคล้ายคลึงกับไมโครซอฟต์แอกเซสมากกว่า เพราะ ต้องมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า แต่ละฟิลด์ (คอลัมน์) จะเป็น ข้อความ ตัวเลข หรือวันที่ และจะมีคุณลักษณะนั้นทั้งหมด
การตัดสินใจว่าจะใช้แอตทริบิวต์ใดสำหรับฟีเจอร์นั้นต้องใช้ความคิดและการวางแผน ในตัวอย่างโพลิกอนรูปแปลงที่ดิน ก่อนจะสร้างเวกเตอร์และแอตทริบิวต์ประกอบ เราต้องตอบคำถามให้ชัดเจนก่อนว่า เราต้องการเก็บข้อมูลอะไร เพื่อประโยชน์อะไร?
เช่น หากเราต้องการติดตามเรื่องแนวโน้มการสร้างบ้าน เราอาจจะต้องเก็บข้อมูล “ปีที่สร้าง” หรือ ถ้าเราต้องการเก็บข้อมูลประชากร เราต้องเก็บข้อมูล “จำนวนคนในบ้าน” ซึ่งอาจจะแยกเป็น “จำนวนคนในบ้านที่เป็นชาย” และ “จำนวนคนในบ้านที่เป็นหญิง”
แต่คำแนะนำที่อยากจะบอกที่สุดคือก็คือ อย่างเก็บข้อมูลที่ไม่จำเป็นต้องใช้ไว้ การรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลที่ไม่จำเป็นเป็นความคิดที่แย่มาก บางคนอาจจะบอกว่าเก็บ ๆ ไว้ก่อน มีเหลือดีกว่าขาด แต่ลืมคิดไปหรือเปล่าว่า การเก็บรักษา การปรับปรุงข้อมูลเหล่านี้ ต้องใช้ต้นทุน เวลา และแรงงานในการจัดการ