You are currently viewing Indian 1975 และ WGS 84

Indian 1975 และ WGS 84

Indian 1975 จะแปลงให้เป็น WGS 84 หรือ (WGS 1984) จะต้องทำอย่างไรบ้าง? ปัญหานี้มีคนถามมานานแล้วและพบว่าปัญหาหนึ่งที่พบบ่อยก็คือ การแปลงค่าพิกัด ผิดพลาด หรือคลาดเคลื่อนไป

นึกขึ้นได้ว่าควรบันทึกเก็บเอาไว้เพราะคำถามนี้ไม่ได้มีแค่หนสองหน เป็นปัญหาเกี่ยวกับระบบพิกัด (Datum) ที่ต้องตอบบ่อย ๆ

การเขียนในครั้งนี้จะแยกเป็นสองส่วนคือ  แปลงค่าพิกัด Indian 1975 – WGS 84 กับปัญหาเรื่อง แปลง kmz จาก ArcGIS ไปเปิดใน Google Earth แล้วคลาดเคลื่อน แต่ก่อนอื่น มาทำความรู้จักระบบพิกัดกันสักเล็กน้อย

ตามประวัติศาสตร์การใช้ระบบพิกัดแผนที่ในประเทศไทยเท่าที่ทราบ ตอนแรกใช้ระบบพื้นฐานราชบุรี (ใช้เขาหลวง จังหวัดราชบุรี เป็นศูนย์กำเนิด) แล้วเปลี่ยนมาใช้ระบบ Indian 1916 และจากนั้นเป็นระบบ Indian 1954 ซึ่งใช้เขากะเลียนเปอร์ ประเทศอินเดีย เป็นศูนย์กำเนิด (อยากรู้รายละเอียดลองอ่าน วิวัฒนาการงานสำรวจของไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน จากกรมแผนที่ทางทหารละกัน)

Indian 1975

ระบบพิกัดที่ยังเห็นกันแพร่หลายในปัจจุบันเป็นระบบพิกัด Indian 1975 จัดทำโดย DMAHTC (Defense Mapping Agency Hydrographic/Topographic Center — องค์กรจัดทำแผนที่ สังกัดกระทรวงกลาโหม ประเทศสหรัฐอเมริกา) เมื่อปีพ.ศ. 2518 ใช้เขาสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี เป็นศูนย์กำเนิด แผนที่ระวางยูทีเอ็มของกรมที่ดิน (เท่าที่ทราบ) ปัจจุบันใช้ระบบพิกัดนี้อยู่

ส่วนระบบ WGS 84 เป็นมาตรฐานหนึ่งที่จับเอาโลกทั้งหมดมาไว้รวมกันในมาตรฐานเดียวกัน โดยจำลองโลกรูปทรงรี (ทรงไข่) กำหนดรัศมีในแนวเส้นผ่านศูนย์กลางโลก ซึ่งน่าจะเป็นระบบแผนที่ซึ่งใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน

แปลงค่าพิกัด Indian 1975 – WGS 84

ในบางครั้งจะเห็นคนในประเทศไทย (ไม่รู้ต่างประเทศมีแบบนี้หรือเปล่า อาจจะมีก็ได้) ใช้วิธีลบค่าความต่างด้วยตัวเลข x =-333.953 และ y=303.045 เอาดื้อๆ (และที่เห็นทำแบบนี้เป็นคนในหน่วยงานราชการเสียด้วย –  แต่เข้าใจว่าระยะหลังคงเลิกทำกันแบบนี้กันแล้ว) ค่า x =-333.953 และ y=303.045 คือการเอาชุดค่าพิกัดที่ต้องการแปลง และชุดค่าพิกัดที่ถูกแปลงพิกัดมาแล้ว มาบวกลบกันง่าย ๆ แต่หน่วยงานด้านการสำรวจโดยตรงไม่ใช่วิธีนี้เพราะมันได้ผลลัพธ์แบบหยาบ ๆ เท่านั้น (แต่ก็ยอมรับว่ามันเป็นวิธีที่เร็วดี และบางทีคนคำนวณอาจจะไม่ต้องการทราบพิกัดอย่างละเอียด)

วิธีที่ใช้กันแพร่หลายมากที่สุด ณ เวลานี้คือให้โปรแกรมคำนวณให้ แต่ก็มีปัญหาอีกว่าจะใช้มาตรฐานการแปลงค่าสูตรไหน เพราะมาตรฐานปัจจุบันมีหลายสูตร

มาตรฐาน กรมแผนที่ทหารฯ ใช้

X=204.4789, Y=837.8940, Z=294.7765 (เดิมใช้ X=206, Y=837, Z=295)

อ้างอิงจากเว็บของกรมแผนที่ทหาร

มาตรฐาน กลุ่มสำรวจปิโตรเลียมยุโรป – European Petroleum Survey Group (EPSG) ใช้

X=209, Y=818, Z=290

และมาตรฐานนี้ใช้กันทั่วโลก โปรแกรมทั่วไปอย่าง ArcGIS หรือ MapInfo จะใช้มาตรฐานนี้ อ้างอิงที่นี่

ดังนั้น หากแปลงค่าพิกัดโดยใช้ค่าที่กำหนดมาในโปรแกรม (อย่าง ArcGIS หรือ Blue Marble Geographic Calculator) จะเป็นการแปลงค่าพิกัดในมาตรฐานนี้ทั้งสิ้น

กรมที่ดินก็มีมาตรฐาน parameter 7 จุด (ไม่ใช่แค่ X Y Z อย่าง สองแบบข้างต้น) มีผลการศึกษาวิจัยจากโครงการ “Land Titling Project in Thailand” โดยเวิร์ลแบงค์ มีที่ปรึกษาเป็นหน่วยงานจากออสเตรเลีย

ตั้งค่า Project ใน ArcGIS ได้ที่ Dataframe Property

Indian 1975

ที่แนะนำและเป็นมาตรฐานใช้กันทั่วไป (รวมทั้ง ArcMap ของ ESRI และ QGIS ที่ใช้กันแพร่หลาย ก็คือ มาตรฐาน European Petroleum Survey Group (EPSG) เพราะจะช่วยลดปัญหาได้

 Indian 1975 – WGS 84 ใน ArcGIS

สำหรับ ArcMap (หรือ ArcGIS) ถ้าเราตั้งค่า Coordinate System (อยู่ใน Data frame properties) แล้วดึง shapefile ที่ตั้งค่า Coordinate System ต่างออกไปจากที่ตั้ง Project ไว้ จะมีหน้าต่างขึ้นเตือนเราว่า Geographic Coordinates Systems Warning พร้อมแสดงให้เห็นว่า shapefile ที่เราเอาเข้ามานั้นอยู่ในพิกัด หรือ Coordinates ใด ซึ่งเราควรจะต้องกด transformations เพื่อแปลงพิกัด

Indian 1975

พอกดเข้าไปแล้ว ก็ต้องเลือกว่า จะ convert จากระบบพิกัดอะไร ไปเป็นพิกัดอะไร เช่นจากพิกัด Indian 1975 ไปเป็น WGS84 (หรือกลับกัน) ซึ่งพอดูตรง USING แล้วส่วนใหญ่พอกดเข้าไปแล้วจะงงว่า เฮ้ย ทำไมมีตัวเลือกตั้ง 4 ตัว

Indian 1975
  • Indian_1975_To_WGS_1984
  • Indian_1975_To_WGS_1984_2
  • Indian_1975_To_WGS_1984_3
  • Indian_1975_To_WGS_1984_4

จะเลือกตัวไหนดี?

แต่ละตัวจะมีรายละเอียดไม่เหมือนกัน ลองดูรายละเอียดการแปลงของแต่ละตัวได้ที่เว็บของ ESRI

หรือจะอ่านจากข้อมูลในมหาวิทยาลัยนี้ ก็น่าจะเข้าใจได้ดี

อธิบายคร่าว ๆ สองอันแรก (ที่ไม่มีตัวเลขต่อท้าย กับมีเลข 2 ต่อท้าย) ใช้คำนวณบนพื้นดิน รวมถึงในอ่าวไทยด้วย แต่ตัวคำนวณปรับระยะจะต่างกัน

คือถ้าเป็น Indian_1975_To_WGS_1984 จะใช้ X = 209  Y = 818 Z = 290

ถ้าเป็น Indian_1975_To_WGS_1984_2 จะใช้ X = 210  Y = 814 Z = 289

แต่ถ้าเป็น Indian_1975_To_WGS_1984_3 จะระบุในนี้เลยว่าใช้ Bongkot Filed หรือ บริเวณแหล่งบงกชของการปิโตรเลียม

Indian_1975_To_WGS_1984_4 จะเป็นเฉพาะบริเวณที่เป็นแผ่นดินเท่านั้น และตัว parameter จะต่างจากสามแบบแรก ที่มีเพียง 3 จุดคือ X,Y,Z กลายเป็น 7 คือ X,Y,Z การหมุนรอบแกน X,Y,Z และ scale factor (ตัวทอนระยะที่วัดได้บนพื้นดินกลับเป็นระยะที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง)

ดังนั้น ถ้าจะให้แนะนำก็จะแนะนำให้เชื่อตาม มาตรฐาน กลุ่มสำรวจปิโตรเลียมยุโรป ก็คือ เลือกแบบแรกที่ไม่มีตัวเลขห้อยท้าย

(สำหรับใน QGIS ที่ให้แปลงระบบพิกัดอัตโนมัติ จะเลือกค่าของ กลุ่มสำรวจปิโตรเลียมยุโรป ให้โดยอัตโนมัติ ยกเว้นจะเลือกวิธีพิเศษอื่น ๆ)

อ่านเพิ่มเติม – ค่าพิกัดฉากในการรังวัดและทำแผนที่ของกรมที่ดิน