เลขไทยในเอกสารราชการ กลายเป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่มีการตั้งเรื่องเรียกร้องใน Change.org หัวข้อว่า “ขอให้ใช้เลขอารบิกในเอกสารราชการไทย เพื่อความพัฒนาในด้านดิจิทัล” สำหรับท่านที่ไม่เคยอ่านเนื้อหาเรื่องนี้มาก่อน โปรดอ่านรายละเอียดก่อนจะอ่านต่อไป เพราะกลัวว่าจะพูดกันผิดประเด็น
หลังจากที่เรื่องการเรียกร้องนี้ ได้มีคนนำไปเผยแพร่ ก็มีการพูดถึงการกว้างขวาง และมีปฎิกิริยาที่หลากหลาย เช่น ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี ทวีตข้อความว่า
ภูมิใจในเอกราชทางภาษา ด้วยอักษรไทย เลขไทย
และมีหลายความเห็นที่น่าสนใจ เมื่อพูดถึงวิธีการเขียนเอกสารทางราชการในประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก อย่างเช่น
แนวปฏิบัติการเขียนหนังสือราชการ โดย Thitirat Tity Thipsamritkul
Sarinee Achavanuntakul – สฤณี อาชวานันทกุล
Kornkit Disthan
ความเป็นมาของการที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ใช้เลขไทยนั้น โปรดอ่านเรื่อง การใช้เลขไทยในเอกสารราชการ https://pub.nstda.or.th/gov-dx/thai-number-format/ ในบทความนี้อธิบายปัญหาต่าง ๆ ไว้แล้ว
เลขไทยในเอกสารราชการ
ปัญหาจริง ๆ ของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่เลขไทย แต่อยู่ที่คนใช้เลขไทยไม่ถูกที่มากกว่า เอกสารราชการจะใช้เลขไทยก็ไม่มีปัญหา แต่เมื่อใดที่จะเขียนถึงภาษาต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ควรใช้อารบิก ยกตัวอย่างเช่น ระวางที่ดิน 5136IV 7232-11 ไม่ควรเป็น ๕๑๓๖IV ๗๒๓๒-๑๑ กระดาษ A4 ไม่ควรเป็น A๔ และ IP Address เช่น 192.168.0.1 ไม่ควรเป็น ๑๙๒.๑๖๘.๐.๑
ซึ่งในแนวทางปฏิบัติจริง เคยมีหนังสือที่บอกว่า ให้พิจารณาตามความเหมาะสม คือตรงไหนใช้เลขไทยแล้วไม่มีปัญหาก็ใช้ไป แต่ถ้าเป็นศัพท์เฉพาะจะใช้เลขอารบิกก็ได้ ซึ่งตรงนี้ก็ไม่เคยเข้าใจคนทำงานธุรการหรืออำนวยการเลยที่มักจะไม่ปล่อยผ่าน ขอให้กลับมาแก้เป็นเลขไทยเสมอ จนบางครั้งก็เบื่อที่จะอธิบาย เพราะถ้าไม่ยอมเปลียนตาม หนังสือ – เอกสารต่าง ๆ ก็ไม่ออกไปเสียที
เคยพูดไว้ครั้งหนึ่งว่า เวลาทำงานกับคอมพิวเตอร์ ขอให้ลืมความรักชาติไปก่อน ตั้งชื่อไฟล์ ให้ใช้ภาษาอังกฤษ เลขให้ใช้เลขไทย ถ้าใช้ Excel แล้วจะพิมพ์วันที่ ให้พิมพ์เป็นปีค.ศ. ในรูปแบบที่ชัดเจน เช่น 31/05/2022 แล้วค่อยใช้ Format ในการแปลงเป็นรูปแบบที่ต้องการ https://datarevol.com/excel/date/
(โปรดอ่าน ปัญหาจากเรื่องเก่า ๆ ที่เคยเขียนไป จากปัญหาการกรอกข้อมูลปีเป็น พ.ศ.) https://datarevol.com/access/export-access-to-excel-date-error/
และที่แย่ที่สุดคือ เมื่อครั้งที่มีคนคิดค้น SarabunIT๙ ออกมา แล้วมีคนเอาไปใช้กันแพร่หลาย โดยเฉพาะ คนจากศูนย์เทคโนโลยี เอามาเผยแพร่ให้คนใช้กัน ถึงขั้นเคยมีหนังสือเวียนออกมา อันนี้คือเรื่องที่เจ็บปวด เพราะทำงานแล้วต้องมาปวดหัวกับรหัสของตัวอักษรที่ผิดไปจากที่ควรจะเป็นกับตาที่เห็น ตอนนั้นถึงกับต้องมาเขียนว่า เลิกใช้ SarabunIT๙ กันเถอะ ขอร้อง
ถ้าอยากเปลี่ยนเลขไทยรวดเดียวใน MS Word โปรดอ่านที่นี่
ถ้าอยากเปลี่ยนเลขไทยรวดเดียวใน MS Excel โปรดอ่านที่นี่
เรื่องภาษาไทย ArcGIS https://datarevol.com/gis/arcgis-encoding/
ยังยืนยันว่าเลขไทยไม่ผิด และนี่ไม่ใช่เรื่องการไม่รักตัวอักษรไทย (นี่ก็พิมพ์เป็นภาษาไทย) เพียงแต่เวลาที่อ่านคำอธิบายของการเรียกร้อง “ขอให้ใช้เลขอารบิกในเอกสารราชการไทย เพื่อความพัฒนาในด้านดิจิทัล” ใน change.org นี่รู้สึกเข้าใจประเด็นของผู้ที่ตั้งหัวข้อเรียกร้องขึ้นมา เฉพาะ character encoding ที่มี ทั้ง UTF-8 TIS-620 MS874 ISO-8859-11 นี่เป็นปัญหามากพอสมควร
ย้ำอีกครั้ง ไม่ได้มีปัญหากับตัวเลขไทย หรือ ภาษาไทย แต่เวลาที่ทำงานเกี่ยวกับดิจิทัลซึ่งคนไทยไม่ได้เป็นคนสร้างขึ้นมา การใช้ตัวเลขไทย หรือ ภาษาไทยเป็นปัญหาจุกจิกจริง ๆ เรื่องนี้คงต้องอยู่ที่เลือกใช้ให้เหมาะสมกับกาลเทศะ และความเหมาะสมในการทำงานเป็นหลัก
เพราะส่วนตัวก็ยังใช้ตัวเลขไทยเพราะเห็นว่าสวยดี แต่เวลาที่ทำงานจริง จะพยายามเลี่ยงภาษาไทยและตัวเลขไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาที่จะตามมาแบบไม่คาดคิด บางทีเหมือนปลาตายน้ำตื้น พลาดในเรื่องง่าย ๆ