You are currently viewing ไฟล์เป็นภาษาต่างดาว และเปิดไม่ได้

ไฟล์เป็นภาษาต่างดาว และเปิดไม่ได้

ไฟล์เป็นภาษาต่างดาว เกิดได้อย่างไร และจะแก้ไขได้อย่างไร มีผู้ร่วมงานนำแฟลชไดร์ฟมาให้ช่วยแก้ไขให้หน่อยเพราะลองเอาไปเปิดแล้วไฟล์เป็นอะไรไม่รู้ เปิดมาชื่อไฟล์กลายเป็นภาษาต่างดาวอ่านไม่ออก เปิดไฟล์ขึ้นมาใช้งานก็ไม่ได้

ไฟล์เป็นภาษาต่างดาว
ไฟล์ที่ชื่อกลายเป็นอักขระแปลก ๆ อ่านไม่ออก

พอเอามาเปิดดูก็เห็นชื่อไฟล์เป็นตัวอักขระแปลก ๆ เหมือนตัวอักษรต่างดาวก็คิดในใจว่าคงจะเป็นไวรัสล่ะมั้ง? สงสัยอาจจะเป็นไวรัสซ่อนไฟล์หรืออะไรแบบใหม่ ลองแก้ไขแอตทริบิวต์ผ่านทาง Command Prompt แล้ว ผลออกมาว่า ไม่พบไฟล์เลย (do not exist)

ไฟล์เป็นภาษาต่างดาว

อันนี้เลยเริ่มคิดว่า ไม่น่าจะเป็นไวรัสคอมพิวเตอร์ แต่น่าจะเกิดจากโครงสร้างรายชื่อไฟล์ (FAT — file allocation table) เสีย เลยทำให้เห็น ไฟล์เป็นภาษาต่างดาว และเปิดไม่ได้

ตอนนั้นคิดทางแก้ไว้สองแบบ แบบแรกคิดว่าอาจจะเกิดจากแฟลชไดร์ฟรวน ๆ หรือเปล่า ถ้าลองใช้ Disk Management แล้ว map drive ไปที่ตัวอักษรใหม่ แล้วถอดมาเสียบใหม่ อาจจะยังมีโอกาสเปิดได้ แต่หลังจากคิดอีกที เกรงว่ามันอาจจะมีผลต่อ path ของไฟล์หรือเปล่า? เดี๋ยวจะไปกันใหญ่

อีกอย่างที่อยากเตือนไว้คือ ไม่ควร rename ชื่อไฟล์ บางคนนึกว่าชื่อไฟล์มันแปลก ๆ เลยพยายามเปลี่ยนชื่อไฟล์ ถ้าอยากลอง ให้ copy ไปไว้ไดร์ฟอื่นที่ไม่ใช่แฟลชไดร์ฟ ห้ามรบกวนไฟล์ต้นฉบับในแฟลชไดร์ฟ

วิธีแก้ปัญหากรณีนี้ก็เลยเลือกอีกทางที่ดูจะเสียหายน้อยกว่า นั่นคือใช้โปรแกรมกู้ข้อมูลธรรมดา ๆ นี่เอง (จะใช้ Recuva หรือ MiniTool Power Data Recovery FREE หรือ R-Studio หรืออะไรก็ตามที่มีอยู่)

แต่เมื่อลองใช้โปรแกรมกู้ไฟล์ดูแล้ว ปรากฎว่าเจอแต่ไฟล์เก่า ๆ ส่วนไฟล์ที่กำลังใช้งานอยู่ในตอนนี้ซึ่งเพิ่งทำหมาด ๆ กลับหาไม่พบ!

ไฟล์เป็นภาษาต่างดาว

ก็เลยต้องใช้ท่าไม้ตาย นั่นคือ Format!!!

ไฟล์เป็นภาษาต่างดาว ทำไงดี

ถึงตรงนี้อาจจะมีคนด่าแล้วว่า ถ้าจะฟอร์แมตมันไม่เรียกแก้ปัญหาโว้ยยยยยยยยย อยากได้ไฟล์คืน บางไฟล์มันสำคัญต้องกู้คืนมาให้ได้เพราะข้อมูลสำคัญบางอย่างมันทำใหม่ลำบาก หรือทำใหม่ไม่ได้เลยก็มี ขืน format ก็บรรลัยสิครับ ไฟล์หายหมด

ก่อนจะด่า ขออธิบายแนวคิดนี้ก่อน

โปรแกรมกู้คืนไฟล์ไม่สามารถดึงไฟล์นั้นกลับมาได้เพราะมันมองว่านี่คือไฟล์ที่ยังไม่โดนลบทิ้งไป อันนี้เดาง่าย ๆ เลยเพราะเรายังเปิดดูได้ว่ามีไฟล์อยู่ เพียงแต่เปิดไฟล์ไม่ได้ จึงอนุมานได้ว่าที่มันไม่สามารถกู้ข้อมูลคืนกลับมาได้นั้นก็เพราะนั่นคือไฟล์ที่ยังไม่โดนลบทิ้งนั่นเอง

ดังนั้นเราก็ต้องลบไฟล์พวกนี้ทิ้งเพื่อที่จะกู้ข้อมูลกลับมา แต่ทว่าไฟล์ต่าง ๆ เหล่านี้กลับไม่สามารถลบทิ้งได้ด้วยวิธีปกติ จะกด delete จากคีย์บอร์ดหรือว่า คลิกว่ากด delete อะไรยังไงก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เราไม่สามารถไปดัดแปลงแก้ไขไฟล์อะไรได้เลยทั้งสิ้น… ดังนั้นในขั้นตอนนี้ก็คือการพยายามลบไฟล์นั้นเสียเพื่อเข้าสู่กระบวนการกู้คืนข้อมูล

ในเมื่อลบข้อมูลไม่ได้ก็เหลือวิธีเดียวนั่นคือ Format แต่การฟอร์แมตนั้นจะต้องเป็น Quick Format

สำหรับการทำ Quick Format นี้น่าจะแก้ปัญหาตรงจุดที่มันจะล้างตารางข้อมูล (FAT) โดยไม่มีการตรวจสอบในส่วน bad sector จะคล้ายกับเวลาที่เราลบข้อมูลในฮาร์ดดิสต์ หรือแฟลชไดร์ฟนั้น ความจริงแล้วข้อมูลที่เก็บในแฟลชไดร์ฟหรือในฮาร์ดดิสต์มันจะไม่ได้โดนลบทิ้งไปทั้งหมดจริง ๆ แต่เมื่อไม่มีตารางสารบัญมาเรียกใช้ คอมพิวเตอร์ก็ไม่รู้จะเรียกไฟล์จากตรงไหนมาประมวลผลแสดงให้เราดู มันจะมองเป็นพื้นที่ธรรมดา

เปรียบเทียบเหมือนกับการ “ฆ่า” สังขารร่างกายให้ตายไป แต่ “วิญญาณ” ยังอยู่ ซึ่งก็มีแต่วิญญาณ ซึ่งไม่สามารถทำอะไรได้เหมือนตอนมีร่างกาย จนกว่าจะมีการจัดระบบสารบัญเข้าไปใหม่

โปรแกรมกู้คืนมันจะชุบวิญญาณเหล่านี้ด้วยการไปขุดสารบัญดึงข้อมูลกลับมา แต่ในเมื่อไฟล์มันยังอยู่ เพียงแต่ “ร่อแร่” ยังไม่ตายมันก็หาไม่เจอ กู้คืนกลับมาไม่ได้เพราะไม่เห็นว่ามีไฟล์ที่โดนลบไปแล้ว

การฆ่ามันให้ตายก็คือ ฟอร์แมตนี่เอง

ขั้นตอนแรก คลิกขวาที่ไดร์ฟของแฟลชไดร์ฟนี้ใน Explorer แล้วเลือก format แล้วเลือก Quick Format อันนี้สำคัญมาก Quick Format เท่านั้น ห้าม Full Format โดยเด็ดขาด ถ้าคุณใช้ Full Format ก็จะสูญเสียข้อมูลในไดร์ฟนั้นไปตลอดกาล

พอ Quick Format เสร็จ ก็คือการฆ่ามันแล้ว ก็ต้องจุดธูปเรียกวิญญาณมันมา นั่นก็คือการใช้โปรแกรมกู้ข้อมูล (ในที่นี้ใช้ Recura) กู้ข้อมูลคืน

ได้ผลครับ!! คราวนี้ Recura เจอไฟล์ที่ต้องการกู้คืน และสามารถกู้กลับมาใช้งานได้

HAPPY!

ลองใช้ เรียงไฟล์ด้วยวันที่ เพื่อกรองงานที่ทำในช่วงนั้นขึ้นมา ก็ใช้ได้

อันนี้ก็เป็นทริกหนึ่งที่เอามาแบ่งปันกันเผื่อว่าใครเจอปัญหาคล้าย ๆ กันนี้ สามารถใช้ได้ทั้ง flashdrive และ external harddisk

แต่ถ้าให้แนะนำอย่างจริงใจ พวก flashdrive หรือ external harddisk นี่ก็มีอายุของมันเหมือนกัน ใช่ว่าจะอยู่ได้นาน (แต่จากที่อ่านจากวิกิพีเดียก็อายุยาวพอสมควรนะ ) คือจะมีอายุนับจำนวนครั้งที่มีการเขียน/ลบข้อมูล ดังนั้นถ้าใช้บ่อย ๆ ก็จะเสื่อมไปตามธรรมชาติของมัน และมักพบว่าอันที่มีปัญหามักจะเป็นอันที่มีอายุหลายปีหน่อย ถ้าหาก flashdrive หรือ external harddisk ออกอาการมีปัญหาก็ควรพิจารณาเปลี่ยนอันได้แล้ว

ถ้าเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญก็ควรจะแบ็กอัปไว้หลายที่หน่อย เช่น google drive หรือ onedrive เพื่อกระจายความเสี่ยงจะดีมาก