You are currently viewing NFT: Non-Fungible Tokens

NFT: Non-Fungible Tokens

NFT หรือ Non-Fungible Tokens ภาษาไทยรู้สึกว่าจะใช้ “สินทรัพย์ดิจิทัล” เป็นสิ่งที่มาแรงในช่วงสองปีที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก ว่าแต่ว่า มันคืออะไร? และจะมาเกี่ยวข้องกับเราอย่างไรในชีวิตประจำวัน

NFT
ภาพโดย Nathan Dumlao จาก Unspalsh

NFT

ถ้าจะให้อธิบายความหมายของ Non-Fungible Tokens ได้ดีที่สุด ก็คงต้องแยกเป็นคำว่า Token คือ สิ่งที่ใช้แลกเปลี่ยน นึกถึงเหรียญก็ได้ แต่พอบอกเป็นเหรียญมันก็มีสองคำที่ต้องรู้จัก คือ Coin เป็นสกุลเงินดิจิทัล (เช่น Bitcoin Ethereum) ส่วน Token ไม่ได้พัฒนาบล็อคเชนเป็นของตนเองโดยตรง อาจจะสร้างขึ้นมาเพื่อใช้งานเฉพาะด้าน เช่น เป็นคะแนนสำหรับใช้บริการหรือปันผล หรือใช้เพื่อเป็นตัวแลกเปลี่ยนสื่อกลางอะไรสักอย่าง เป็น Side chain ของ coin ที่มีบล็อกเชนของตนเองอยู่แล้วในระบบ

ส่วน Non-Fungible ก็ต้องอธิบายคำว่า “Fungible” คำนี้หมายถึงสิ่งที่ทดแทนกันได้ เช่น เงินเหรียญ 1 บาท จะเหรียญไหน ก็มีมูลค่า 1 บาท ทุกเหรียญ นี่คือ fungible หรือทดแทนกันได้ ดังนั้น Non-Fungible ก็คือ สิ่งที่ตรงข้ามกัน นั่นคือ ทดแทนกันไม่ได้

ตัวอย่างเช่น “สุขภัณฑ์” ซึ่ง มาร์แซล ดูว์ช็อง นำมาทำเป็นศิลปะแบบจัดวางชื่อ น้ำพุ (Fountain) ถ้าเป็นตัว “สุขภัณฑ์” สามารถใช้อันอื่นทดแทนได้ จะเป็น Fungible แต่ตัวสุขภัณฑ์ที่นำมาจัดวางเป็น น้ำพุ นั้น มีเพียง 1 เดียว นั่นคือ Non-Fungible

หรือสมาร์ตโฟน ถ้าเป็นเครื่องใหม่อยู่ในกล่องมีสเป็คแบบเดียวกัน มันเป็น Fungible แต่ทันที่ที่ท่านซื้อมาครอบครอง ได้มีการใช้งาน มีประวัติการโทรออก รับสาย มีรายชื่อผู้ติดต่อ มีรูปถ่ายที่เก็บไว้ แอปที่โหลดมาลงไว้ ธีมภาพพื้นหลัง ฯลฯ จะทำให้สมาร์ตโฟนเครื่งนั้นกลายเป็น Non-Fungible เพราะสิ่งที่มีภายในนั้นเป็นสิ่งเฉพาะตัวทดแทนไม่ได้

ผลิตภัณฑ์เช่น บิตคอยน์ หรือ เหรียญคริปโต หรือ เงินสกุลต่าง ๆ มีความเป็น Fungible ในตัวเอง นั่นคือมีการแลกเปลี่ยนกันได้ในมูลค่าที่เท่ากัน แต่มันก็มีบางอย่างที่ทดแทนกันไม่ได้ และทำให้สิ่งนั้นมีมูลค่าสูง เท่าที่สิ่งนั้นจะเป็นที่ต้องการ นั่นคือ Non-Fungible Tokens

และ บล็อกเชน ก็เข้ามาเกี่ยวข้องตรงนี้

ในอดีต เราจะกำหนดความเป็นเจ้าของสิ่งที่เป็น “ดิจิทัล” อย่างไร ตรงนี้ต้องแยกเรื่องลิขสิทธิ์ไปก่อนนะ สมมติ ไปถ่ายรูปมา 1 รูป ช่างภาพคือเจ้าของลิขสิทธิ์ในรูปนั้น อย่างเช่นรูปภาพของ Cindy Sherman ที่มีคนประมูลภาพ “Untitled 96” ไปในราคาถึง 3.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลิขสิทธิ์ภาพเป็นของ Cindy ใครจะละเมิดไม่ได้ แต่ ตัวรูปภาพนั้น ขายกรรมสิทธิ์กันได้ นั่นคือสินทรัพย์ที่จับต้องได้

แต่ในทางดิจิทัลนั้นเป็นอีกแบบ ในอดีต ไฟล์ภาพดิจิทัล (เช่น jpg) แทบไม่มีมูลค่าในตัวเอง เพราะสามารถสำเนาทำซ้ำได้ตลอดเวลาจนไม่รู้ว่าภาพใดคือภาพใด (ย้ำอีกที ไม่ใช่เรื่องของลิขสิทธิ์ภาพที่เป็นของผู้ถ่ายภาพ แต่เป็นเรื่องของ “ไฟล์ภาพ”

ยกตัวอย่างอีกหน่อยก็แล้วกัน ในวงการ idol ที่เข้มงวดกับการถ่ายภาพศิลปิน สมมติเป็นภาพของน้อง อร BNK48 ก็ได้ เรารู้กันว่า วงนี้ ขายภาพถ่ายศิลปิน ในรูปแบบภาพพิมพ์กระดาษด้วย ลิขสิทธิ์ภาพเป็นของทางบริษัทต้นสังกัด แต่ตัว “ภาพที่พิมพ์” ออกมานี้ มีราคาในตัวมันเองเพราะพิมพ์มาจำกัด เหล่าโอตะเลยยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อภาพ แต่พอมีใครสักคนนำภาพนี้มาสแกนเป็นไฟล์ orn.jpg ภาพนี้แทบจะไม่มีราคา เพราะมีการทำซ้ำจนทำให้ภาพ jpg ที่ออกมาเหล่านี้ ไม่มีความแตกต่าง

แต่แล้ว วันหนึ่ง เราก็มีวิธีระบุ “ตัวตน” ของภาพนั้นขึ้นมา โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนติดตามได้ว่า orn.jpg มีเส้นทางการเปลี่ยนมือผู้ถือกรรมสิทธิ์กันอย่างไร ทำให้ภาพดิจิทัลที่มีการทำซ้ำได้ เกิดเป็นการระบุตัวตนที่ชัดเจนขึ้นมา สามารถควบคุมจำนวน และรู้ที่มาที่ไป การเปลี่ยนมือ แบบเดียวกับการตรวจสอบภาพถ่ายที่พิมพ์ออกมา นี่คือ NFT เป็นการพัฒนาเทคโนโลยี บล็อกเชน สามารถบันทึกความเป็นเจ้าของ การเปลี่ยนกรรมสิทธิ และการตรวจสอบความถูกต้อง เมื่อเราทำให้สิ่งนั้นมีตัวตนที่ชัดเจน ก็คือมีมูลค่าในตัวมันเองเกิดขึ้น

ซื้อขายที่ไหน?

การซื้อขาย ก็เหมือนกับการซื้อขายสินค้าทั่วไป เพียงแต่ไปอยู่ในแบบดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันก็มีตลาดเปิดรองรับมากมาย นั่นก็คือ

OpenSea

Rarible

SuperRare

Nifty Gateway ศิลปิน Beeple ผู้เคยขาย NFT ได้ในราคาสูงถึง 69 ล้านดอลลาร์) ขาย NFT ที่นี่ และยังมีศิลปิน

Foundation

และมีบางเว็บที่ตั้งขึ้นเพื่อการซื้อขายเฉพาะทาง อย่างเช่น

NBA Top Shot ซื้อขายการ์ดสะสมสำหรับบาสเกตบอล NBA โดยเฉพาะ

Axie Infinity แพลตฟอร์มตลาดของเกม Axie Infinity เกมที่ถูกสร้างด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน

Sorare เป็นเกมบริหารจัดการทีมฟุตบอลที่จะต้องมีการซื้อขายการ์ดนักเตะผ่านตลาดนี้

Decentraland เกมส์โลกจำลองที่ผู้เล่นสามารถเข้ามาเลือกซื้อ Item หรือที่ดินในโลกของ Decentraland นี้ได้

Valuables ซื้อขาย NFT ที่เป็น Tweet โดยเฉพาะ อย่างเช่น Tweet แรกของ Twitter โดย Jack Dorsey ซีอีโอของ Twitter ที่เคยขายได้ 2.9 ล้านดอลลาร์ผ่านแพลตฟอร์มนี้

โดย Ethereum เป็นที่นิยม เพราะมีการวางระบบ smart contact หรือ กระบวนการทางดิจิทัลที่กำหนดขั้นตอนการทำธุรกรรมโดยอัตโนมัติไว้ล่วงหน้า โดยใช้บล็อกเชนบันทึกข้อตกลง หรือ ทำสัญญา ได้ด้วยตัวเองโดยไม่มีคนกลางมาตรวจสอบ ใช้กระบวนการทางดิจิทัลในการตรวจสอบทั้งหมด เช่นเดิม เราจะโอนเงินจาก ก ไป ข เราทำผ่านธนาคาร ธนาคารคือผู้ทำหน้าที่เป็นคนตรวจสอบว่า ก มีเงินพอหรือไม่ และโอนให้เมื่อไหร่ เวลาเท่าไหร่ นี่คือ ข้อตกลง หรือ สัญญา ผ่านตัวกลาง (คือธนาคาร)

หรือ เมื่อ ก จะซื้อขายบ้านและที่ดิน จาก ข ก็ต้องไปทำสัญญาซื้อขายกันที่กรมที่ดิน – กรมที่ดิน จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในทำสัญญา และเป็นคนรับรองกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือบ้าน แต่สมาร์ตคอนแท็ก คือการกำหนดโดยใช้บล็อกเชนเข้ามาช่วย ธุรกรรมจะได้รับการตรวจสอบโดยเครือข่ายบล็อกเชน  เพื่อดูว่า ข เป็นเจ้าของบ้านจริงหรือไม่ และ ก มีเงินเพียงพอตามข้อตกลงที่จะจ่ายให้ ข หรือไม่

สมมติเราจะเล่นในตลาด OpenSea เราจะทำอย่างไร มาดูกัน

อย่างแรก ก็ต้องเข้าไปที่ opensea.io พอกดปุ่ม Create หรือ Profile ถ้าหากท่านไม่เคยสมัครไว้ก่อน จะบังคับให้ท่านเชื่อม Ethereum wallet ซึ่งท่านก็ต้องเลือกตามที่ต้องการ Opensea จะใช้ Ethereum เป็นหลัก แต่สำหรับเว็บอื่นอาจจะใช้แตกต่างกันออกไป อาจจะเป็นเหรียญที่มีพื้นฐานออกมาจาก Ethereum ซึ่งจะเรียกว่า ERC-20 ตัวอย่างเช่น USDT, USDC, BNB แต่บางแห่ง จะใช้เหรียญของที่นั้น ๆ

สมมติว่า ใช้ Metamask ซึ่งเป็นกระเป่าเงินที่นิยมกันมาก กดที่ Wallet แล้ว connect เพียงเท่านี้ก็เสมือนว่าเปิดบัญชีกับ Opencea เลือกชื่อ (username) ใส่อีเมลอะไรให้เรียบร้อย ก็เสร็จแล้ว ง่าย ๆ แค่นี้เลย

ที่แนะนำ Metamask เพราะในกรณีที่ท่านต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ NFT สำหรับขาย จะต้องใช้กระเป๋าเงินที่รองรับ ERC-721 ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับ NFT ซึ่ง MetaMask หรือ Coinbase Wallet จะสนับสนุนมาตรฐานนี้อยู่

เพียงเท่านี้เอง

อ่านเพิ่มเติม – NFTs, explained