Evernote แอปโน้ตจดบันทึกระดับแนวหน้าที่เริ่มมีคู่แข่งมากขึ้น แต่ผู้ใช้งานก็ยังมีจำนวนมากเป็นอันดับ 1
แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง ทำให้ DataRevol.com คงต้องเลิกใช้ซอฟต์แวร์นี้ หันไปใช้งานซอฟต์แวร์อื่นแทน
DataRevol.com ใช้งานซอฟต์แวร์นี้มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2550 – 2551 ซึ่งก็ถือว่าใช้งานมานานอยู่
แต่เมื่อปลายเดือนที่แล้ว (พฤศจิกายน 2566) ทาง Evernote ประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป ถ้าท่านใช้เวอร์ชันฟรี จะโดนจำกัดเหลือโน้ตบุ๊กเดียว และได้เพียงแค่ 50 โน้ตเท่านั้น
อ่านรายละเอียดที่บล็อกของ Evernote
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่ทำให้เลือกใช้งาน เพราะความจริงถอยห่างมาสักระยะหนึ่ง ซึ่งก็หลายปีอยู่เหมือนกัน เพียงแต่มีบันทึกอะไรเก็บไว้ที่ยังนำมาใช้งานเป็นระยะจึงไม่ได้ทิ้งเสียทีเดียว ยังมีการเข้าไปอัปเดตโน้ตเป็นระยะ
ด้วยความที่ไม่ได้ใช้งานเป็นหลักเหมือนเมื่อก่อน ทำให้คิดว่าคงถึงเวลาที่จะต้องโบกมือลาอย่างเป็นทางการเสียที เป็นเรื่องการบริหารจัดการชีวิตอย่างหนึ่ง
ทำไมตอนนั้นใช้ Evernote?
Evernote น่าจะเป็นแอปที่อยู่คู่ประวัติศาสตร์แอปประเภทจดบันทึกเลยก็ว่าได้ เพราะ เปิดตัว (ตอนนั้นยังสะกดว่า EverNote) ในแพลตฟอร์ม Windows มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 มีแม้กระทั่งระบบรองรับการเขียนด้วยมือ ไม่ใช่การพิมพ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ Stepan Pachikov ผู้คิดค้นชาวรัสเซียพัฒนามาตั้งแต่สมัยอยู่รัสเซีย ก่อนจะย้ายมาทำงานกับแอปเปิลในโครงการนิวตัน – พารากราฟ (ซึ่งน่าเสียดายที่โครงการไม่สำเร็จ) ต่อมาเขาจึงออกมาทำแอปของตัวเอง และควบรวมกับ Ribbon ซึ่งเป็นแอปด้านการจัดการซึ่งมีความคล้ายคลึงกันมากทั้งในรูปแบบและฟังก์ชัน
แต่จุดเปลี่ยนจริง ๆ คือในเวลาที่สมาร์ตโฟนเริ่มบูม นี่คือสิ่งที่แตกต่างจากแอปจดบันทึกอื่นโดยสิ้นเชิง เพราะไม่ใช่แค่จดโน้ต ยังมีอะไรที่มากกไปกว่านั้น จำได้ว่าเปิดเข้ามามันว้าวมาก คือมีทั้ง text note (จดโน้ตทั่วไป) audio note (บันทึกเสียง) snapshot (จับหน้าจอไปจนถึงเก็บจากเว็บ) และ upload ไฟล์ได้ด้วย
จุดเด่นสำคัญอีกอย่างคือการให้ซิงก์ข้อมูลได้หลายอุปกรณ์ เราบันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์ แต่ก็เปิดดูจากสมาร์ตโฟน หรือ คอมพิวเตอร์เครื่องอื่นได้ (ถ้าเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต)
ทุกวันนี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ย้อนกลับไปตอนนั้นมันเป็นหนึ่งในจุดเด่น
Evernote ต่างจากแอปจดบันทึกอื่น ๆ ตรงที่มันออกแบบมาเพื่อช่วยให้ “จดจำทุกสิ่ง” – Remember Everything ออกฟีเจอร์ที่ใช้งานที่ใช้งานสะดวกล้ำหน้าแอปอื่นในช่วงเวลานั้น ทั้งเรื่องการใช้เป็น project management การค้นหาตามวันที่
โครงสร้างจะบันทึกเป็นเป็น Note โดยแต่ละโน้ต จะเก็บรวมไว้ใน Notebook และเรายังจัดกลุ่ม Notebook เป็น stacks. ได้อีกด้วย อีกทั้งยังใช้ tag กับโน้ต ทำให้นี่เป็นข้อดีมาก ๆ ของ Evernote ที่ให้ความยืดหยุ่นในการจัดการข้อมูล
นอกจากการพิมพ์ข้อความแล้ว ยังเพิ่มไฟล์แนบได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ PDF และสเปรดชีต พวกนี้ถือเป็นข้อดีที่ทำให้รวมทุกอย่างไว้ที่เดียวกัน แถมยังมี Web Clippers เป็นส่วนขยายเบราว์เซอร์ที่ใช้เพื่อดึงเนื้อหาจากหน้าเว็บเอามาลงใน Evernote เพื่อใช้อ้างอิงในอนาคต จะอ่านแบบเต็มหน้าได้หากต้องการ
ตอนช่วงที่ใช้ Evernote เป็นช่วงที่บ้าวิธี GTD (Getting Thing Done) อยู่พอดี และนำมาปรับปรุงใช้งาน Evernote กับวิธีการนี้ได้พอดี มันเลยสาสมใจมาก
ตอนนั้นใช้สรุปงานประชุมสั้น ๆ ใช้ติดตามความคืนหน้างาน ใช้จดบันทึกสิ่งสำคัญต่าง ๆ แยกเป็นหมวดหมู่ตาม tag สะดวกง่ายดาย และยังเอาไปใช้เรื่องส่วนตัวว่า จะซื้ออะไร ไปเที่ยวไหน แวะตรงไหน ไปจนถึงเรื่องงาน และใช้งานสะดวกได้ทั้งในคอมพิวเตอร์และในโทรศัพท์
ตอนที่เข้ามาใช้เป็นช่วงขาขึ้นของ Evernote เพราะหลังจากนั้นปีหรือสองปี ก็มีการประกาศเฉลิมฉลองว่ามีผู้ใช้งาน 10 ล้านคน และในปี 2555 ก็ประกาศว่ามีผู้ใช้งานถึง 38 ล้านคน และในปี 2560 มีผู้ใช้งานถึง 200 – 220 ล้านคน น่าจะเป็นแอปประเภทจดบันทึกที่มีผู้ใช้งานสูงที่สุดแล้ว
ทำไมถึงถอยห่างจาก Evernote?
แต่หลังจากผ่านไปหลายปี Evernote ก็เริ่มพัฒนาแอปอื่นออกมา อย่างเช่น
Penultimate – อันนี้ถ้าจำไม่ผิดน่าจะไปซื้อมาพัฒนาต่อ ร่วมกับสมุดบันทึกชื่อดัง Moleskine
Evernote Peek – คอนเซปคือแอปที่ยังแสดงผลให้เห็นเรื่องต่าง ๆ แม้ว่าในเวลาที่ล็อกหน้าจออยู่ก็ตาม
Evernote Food – ตามชื่อเลย บันทึกอาหาร ซึ่งลองใช้แล้วก็ไม่รู้ว่าจะใช้ทำไม ถ้าจะจดจริง ๆ จดในแอปหลักก็ได้
Evernote Hello – อันนี้คล้าย ๆ กับแอปรายชื่อติดต่อคือจดบันทึกชื่อผู้คน ซึ่งก็ไม่รู้จะใช้ไปทำไม แถมในตอนนั้นมันมีเทคโนโลยี NFC แตะโทรศัพท์กันก็แลกข้อมูลกันได้แล้ว
Evernote Work Chat – แอปสื่อสารสนทนา
และเชื่อว่าความก้าวพลาดเรื่องทิศทางที่ก้าวเดินไปนี่แหละทำให้เปิดโอกาสให้แอปอื่นเข้ามาดึงความสนใจจากผู้ใช้งาน เพราะแทนที่จะเอาเวลาไปพัฒนาคุณลักษณะต่าง ๆ ของตัว Evernote กลับพยายามสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ซึ่งในช่วงแรกเหมือนว่าจะไปได้สวย มีคนพูดถึงกันพอสมควร
และเนื่องจากความพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มากเกินไปจนไร้จุดหมายที่ชัดเจน ทำให้ตัวแอปหลักเริ่มมีปัญหา ช่วงนั้นเริ่มมีอะไรที่คนใช้งานไม่ค่อยพอใจเกิดขึ้นมากมาย ทั้งบั๊ก และออกแบบ UX ได้แย่ลงกว่าเดิม (หรืออย่างน้อยโดยส่วนตัวรู้สึกว่ามันใช้งานไม่สะดวกเหมือนเคย)
จำได้ว่ามีช่วงหนึ่งเคยมีปัญหาเรื่องข้อมูลที่บันทึกไว้สูญหายด้วย และยังเปลี่ยน privacy เป็นให้พนักงานเข้าถึงข้อมูลโน้ตของผู้ใช้งานได้ ซึ่งโดนต่อต้านแทบจะทันที
ในขณะที่มีคู่แข่งรายใหม่เข้ามา เช่น OneNote, Google Keep และ Notion ซึ่งแต่ละรายก็มีจุดเด่นของตัวเอง
สิ่งเหล่านี้ทำให้เริ่มหันมาหาสิ่งอื่นทดแทนและเริ่มใช้งาน Evernote น้อยลงทุกที
Evernote Still Alive
แต่ถึงจะไม่ใช้งานแล้ว แต่ก็ยังต้องบอกว่าซอฟต์แวร์นี้มีข้อดีมากมาย เช่น
- เป็นโน้ตที่สามารถซิงก์กับอุปกรณ์อื่นได้
- การค้นหา การจัดหมวดหมู่ สะดวก ง่ายดาย
- มี OCR (Optical Character Recognition) เปลี่ยนข้อความในรูปภาพ ให้เป็นข้อความ (Text) สำหรับนำไปใช้บันทึกหรือ Words ได้
- มี AI
แต่ข้อเสียที่นึกออกก็คือ ถ้าท่านใช้เวอร์ชันฟรี จะไม่สามารถใช้งานเต็มศักยภาพได้ ถ้าจะใช้แบบเสียเงิน มันก็มีราคาสูงกว่าแอปที่ใกล้เคียงกัน
เวอร์ชันฟรีของ Evernote ทำงานแบบออฟไลน์ไม่ได้และซิงค์ระหว่างอุปกรณ์สองเครื่องเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันนี้ เรามีแอปจดบันทึกที่สามารถซิงก์ได้แบบไม่จำกัดอุปกรณ์เกลื่อนตลาด
DataRevol มี Smartphone + ipad + คอมพิวเตอร์ที่ทำงาน + คอมพิวเตอร์ที่บ้าน + โน้ตบุ๊ก ข้อจำกัดสองข้อนี้จึงเหมือนการบีบให้ไปใช้แบบจ่ายเงิน
จากข้อจำกัดทั้งสองข้อนี้ DataRevol.com จึงไม่อยากแนะนำ Evernote เป็นตัวเลือก ถ้าหากว่าท่านกำลังมองหาแอปจดบันทึกเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั่วไปที่ใช้งานได้ฟรีและใช้งานจากหลายอุปกรณ์
ความพยายามถัดมาคือการหารายได้จากการสมัครสมาชิก ซึ่งตรงนี้ DataRevol.com เข้าใจว่าทุกสิ่งมีค่าใช้จ่าย ไม่ได้มาฟรี ๆ
แต่แทนที่จะเก็บฟีเจอร์หลักไว้แล้วเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ๆ ในแบบเสียเงิน พวกเขากลับเลือกวิธีถอดฟีเจอร์เหล่านั้นออกไปไว้ในแบบสมาชิก เพื่อบังคับกลาย ๆ ให้คนใช้งานจ่ายเงิน
ปัจจุบัน ผู้ใช้งานแบบฟรี จะได้ใช้งานเพียงแค่ 50 โน้ต กับ 1 notebook (ซึ่ง DataRevol สร้างไว้ประมาณ 100++โน้ตบุ๊ก ซึ่งยังคงใช้งานได้ตามปกติ คือไม่โดนลบ แต่เพิ่มไม่ได้เท่านั้น) อัปโหลดได้เดือนละ 60 MB และขนาดของโน้ตจำกัดไม่เกิน 25 MB
จากเมื่อก่อนเคยใช้งานได้ 250 โน้ตบุ๊ก 100,000 โน้ตนะ
ถ้าอยากได้โน้ตเป็นแสนเหมือนเดิม และซิงก์ได้หลายอุปกรณ์ ก็ต้องจ่ายเงินเริ่มต้น Personal คือ 179 บาทต่อเดือน จะซิงก์อุปกรณ์ไม่จำกัด ทำโน้ตบุ๊กได้ 1,000 โน้ตบุ๊ก และโน้ตจำนวน 100,000 โน้ต อัปโหลดได้เดือนละ 10 GB แต่ละโน้ตจำกัดไฟล์ไม่เกิน 200 MB
ถ้าอยากใช้งานเต็มประสิทธิภาพ ต้องเลือกแบบ PROFESSIONAL ซึ่งเดือนละ 219 บาทต่อเดือน
อ่านรายละเอียดของราคาได้ที่ https://evernote.com/compare-plans
อย่าลืมว่า ถ้าเราจ่ายประมาณเดือนละ 300 บาท เราจะใช้งาน Microsoft 365 ถึง 5 คนและใช้งานได้หลายแอปมาก รวมทั้ง OneNote (ถ้าใช้เวอร์ชันฟรีมีพื้นที่เก็บข้อมูลให้ฟรี 5GB แต่ถ้าใช้ Microsoft 365 แต่ละบัญชีมีพื้นที่ Onedrive ให้ 1 TB)
Google Keep เสนอพื้นที่เก็บข้อมูล 15GB (แชร์กับแอปอื่นๆ ของ Google เช่น Gmail) แอพบางตัว รวมถึง Obsidian และ Joplin ไม่มีการซิงค์ในเวอร์ชันฟรี แต่ทั้งคู่ทำงานแบบออฟไลน์ได้ฟรี และสามารถเลือกซิงค์โดยใช้ third party เช่น Dropbox ได้
ซึ่งในปัจจุบัน DataRevol.com คิดว่าเป็นการจ่ายเงินที่ไม่คุ้ม เพราะมีตัวเลือกอื่นที่เหมาะสมกว่า คือในเวลาประมาณ 4 – 5 ปีที่ผ่านมาแทบไม่ได้ใช้ Evernote อยู่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อใช้งานที่น้อยนิดกว่าเดิมแบบนี้
Discover more from Data Revol
Subscribe to get the latest posts sent to your email.