Blockchain – บล็อกเชน คืออะไร สำคัญอย่างไร ใช้ทำอะไรได้บ้าง
เมื่อวันก่อน มิตรสหายท่านหนึ่งถามว่า Blockchain คืออะไร ด้วยความที่ตั้งตัวไม่ทัน (เพราะมันเป็นศัพท์เฉพาะ) จึงตอบไปสั้น ๆ ว่า มันคือแพลตฟอร์มที่กระจายข้อมูลชุดเดียวกันไปโดยไม่มีเซิร์ฟเวอร์ จะย้ายไปเครื่องไหนก็ได้
แล้วก็มานั่งคิดว่า เอ๊ะ ตอบไปแบบนั้นจะใช้ได้มั้ยหว่า เอาจริงคือไม่ใช่ว่า กระจายข้อมูลชุดเดียวกันไปโดยไม่มีเซิร์ฟเวอร์ อย่างที่บอกมิตรสหายท่านนั้นไป เพราะมันเป็น เพียร์ทูเพียร์ อยู่แล้ว (peer-to-peer เป็นระบบเน็ตเวิร์กที่คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในระบบมีสิทธิเท่าเทียมกันโดยสมบูรณ์ ไม่มีเซิร์ฟเวอร์)
ลองเรียบเรียงใหม่
บล็อกเชนคือระบบที่นำข้อมูลไปประมวลผลโดยไม่จำกัดที่เครื่องใดเครื่องหนึ่ง หากมีการแก้ไขปรับปรุงก็จะรับรู้และทำต่อกันไปเหมือนสายโซ่ทีละข้อ
อธิบายแบบนี้ก็ไม่รู้จะเข้าใจตรงกันหรือไม่
Blockchain คืออะไร?
ช่วงสองหรือสามปีที่แล้ว คนรอบตัวใช้คำว่า “บล็อกเชน” บ่อยครั้งแทบจะไล่ตาม “บิ๊กเดตา” มาติด ๆ โดยเฉพาะ ช่วงที่ บิตคอยน์ มีมูลค่าการแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจนน่าตกใจ ทำให้คนเริ่มสนใจบิตคอยน์ และลามมาถึงบล็อกเชน จนบางคนเข้าใจไปว่า บล็อกเชน คือ บิตคอยน์ ไปก็มี
ก่อนอื่น ต้องแก้ความเข้าใจก่อน บล็อกเชน เป็นเทคโนโลยี ส่วน บิตคอยน์ เป็นสกุลเงินดิจิทัลซึ่งสร้างจากเทคโนโลยีบล็อกเชน
Bitcoin ไม่ใช่ Blockchain
บิตคอยน์ คือสกุลเงินดิจิทัล หรือ ทรัพย์สินมีค่าที่จับต้องไม่ได้ อาจจะเรียกว่ามันคือ “ทองคำดิจิทัล” ซึ่งเปลี่ยนราคาอิสระตามความต้องการของสังคม ซึ่งวันหนึ่งมันอาจจะมีราคาแค่ 1 บาท หรือไม่มีค่าสักบาทก็ได้ หรือถ้ามีคนต้องการมาก ๆ ก็ซื้อขายได้เกินหกแสนบาทอย่างช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมาก็ได้
บิตคอยน์บันทึกข้อมูลทางบัญชี (Ledger) ด้วยระบบบล็อกเชน
Ledger เรียกง่าย ๆ ก็คือ สมุดบัญชีนั่นแหละ
แนวคิด บล็อกเชน เกิดขึ้นนานแล้ว (ตั้งแต่ปีค.ศ. 1992 หรือเมื่อประมาณ 25 ปีที่แล้ว) แต่ ซาโตชิ นากาโมโตะ (ซาโตชิ เป็นนามแฝง ตัวตนจริงอาจไม่ใช่คนญี่ปุ่น และ อาจเป็นกลุ่มคนมากกว่า 1 คนก็ได้) นำมาพัฒนาใช้กับ บิตคอยน์ ได้สำเร็จเมื่อปีค.ศ. 2008 และปล่อยซอร์สโค้ดผ่านทาง ซอซฟอร์จ (Sourceforge) เมื่อวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 2009
และที่ บิตคอยน์ ได้รับการยอมรับก็เพราะระบบ บล็อกเชน นี่เอง จนตอนนี้พอพูดถึง บิตคอยน์ ก็ต้องพูดถึง บล็อกเชน ที่มีความปลอดภัย ไม่ต้องกลัวระบบล่ม และน่าเชื่อถือ
ด้วยความยอดเยี่ยมของ บล็อกเชน ทำให้มีคนแกะรหัสโค้ดเพื่อปรับใช้กับธุรกรรมอย่างอื่นนอกเหนือจาก บิตคอยน์ เพราะถ้าบล็อกเชนสร้างความปลอดภัยและความน่าน่าเชื่อถือให้กับธุรกรรมทางการเงินที่ไม่มีตัวตนได้ มันก็น่าจะปลอดภัยและน่าเชื่อถือพอจะนำไปใช้อย่างอื่นด้วย
วิธีการทำงานของ Blockchain
บล็อกเชน ในฐานะ “เลดเจอร์” หรือ “สมุดบัญชี” คือระบบที่ตัวเลขของแต่ละบัญชีเป็นสาธารณะ คืออยู่ในมือของทุกคนที่อยู่ในระบบ หากมีการแก้ไขตัวเลขเช่นโอนเงินให้บัญชีอื่น ข้อมูลนี้ก็ไปปรากฎอยู่ในมือผู้ใช้ระบบทุกคนด้วยเช่นกัน ทุกคนในระบบจะรู้ความเคลื่อนไหวของทุกบัญชี แต่ไม่รู้จักตัวตนของผู้ถือครองบัญชีนั้น
ถ้าเป็นระบบเก่า เอาที่คุ้นเคยก็คงต้องธนาคารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกสิกรไทย ไทยพาณิชย์ กรุงเทพ กรุงไทย ฯลฯ ธนาคารเหล่านี้เก็บข้อมูลลูกค้าทังหมดไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ของตัวเอง ไม่ว่าจำนวนเงินในบัญชี รายการโอนเข้า-ออก พอลูกค้าฝากเงินก็จะบันทึกข้อมูลเข้าเซิร์ฟเวอร์ของธนาคาร พอจะโอนออกก็ต้องทำรายการผ่านเซิร์ฟเวอร์ของธนาคาร สมุดบัญชีในมือลูกค้าเป็นแค่สำเนาที่ต้องเอาไปอัปเดตให้ตรงกับข้อมูลในเซิร์ฟเวอร์ธนาคารเท่านั้น ข้อมูลทุกอย่างอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ธนาคาร
ข้อดี ธนาคารคือเจ้าภาพหรือผู้ดูแลธุรกรรมต่าง ๆ โอกาสผิดพลาดก็มี แต่ถือว่าต่ำอยู่
ข้อเสียล่ะ ถ้าระบบผิดพลาดขึ้นมา โดนแฮก หรือ ระบบล่ม ข้อมูลลูกค้าหายหมด ซวยตาย เพราะทุกอย่างขึ้นกับเซิร์ฟเวอร์และการจัดการของธนาคารเพียงผู้เดียว แล้วถ้าเกิดมีแฮ็กเกอร์สักคน (หรือพนักงานธนาคารที่เข้าถึงการแก้ไขบัญชีได้) แอบแก้บัญชี ผลลัพธ์คงหายนะ ทุกอย่างขึ้นกับความน่าเชื่อถือของธนาคารเท่านั้น
แต่ บล็อกเชน ไม่มีศูนย์กลาง ข้อมูลในมือลูกค้า (ซึ่งไม่ใช่ลูกค้าอีกต่อไปเพราะทุกคนเท่าเทียมกัน) จะปรับปรุงพร้อมกันเสมอ
ยกตัวอย่าง ในระบบธนาคารเดิม ก. มีเงินเท่าไหร่ มีแต่ ก. และ ธนาคารเท่านั้นที่รู้ ถ้า ก. โอนเงินให้ ข. ก็มีแต่ ก. ข. แล้วก็ ธนาคาร ที่รู้ข้อมูลนั้น
แต่ในระบบบล็อกเชน ก. โอนเงินออกไปให้ ข. เท่าไหร่ คนที่รู้จะไม่ใช่แค่ ก. กับ ข. แต่ ค. ง. ฯลฯ (ทั้งโลกที่เข้ามาในระบบนี้) ก็จะรู้ด้วย เพียงแต่ไม่รู้ว่าตัวตนที่แท้จริงเป็นใคร เพราะในโลกบล็อกเชนจะแสดงแต่เลขบัญชี (หรือ Address – เทียบระบบธนาคารทั่วไปก็คือ เลขที่บัญชีที่เปิดไว้กับธนาคาร) ทุกคนในระบบนี้จะรู้จักแต่เลขบัญชี แต่ไม่รู้ว่าผู้ว่าผู้ครอบครองเลขบัญชีนี้คือใคร
ระบบจะสร้างเลขบัญชีให้จากรหัสเจ้าของบัญชี (หรือ Owner Key) ไม่ต้องกลัวว่าจะซ้ำกัน เจ้าของบัญชีจะเข้าถึงเลขบัญชีผ่านรหัสเจ้าของบัญชี และนั่นคือสิ่งเดียวที่จะเข้าถึงเลขบัญชีได้ ถ้าลืมรหัสเจ้าของบัญชีก็ซวย ถ้าคนอื่นรู้รหัสเจ้าของบัญชีก็ซวยเช่นกัน
ในโลกบล็อกเชน มีเพียงรหัสเจ้าของบัญชีเท่านั้นที่เป็นความลับ
เรียกง่าย ๆ บล็อกเชนคือสมุดบัญชีสาธารณะ ข้อมูลการโอนเข้า-ออก (ในบล็อกเชนเรียกว่า Transaction) ของทุกบัญชีเป็นสาธารณะทั้งหมด ใครอยากรู้ว่าเลขบัญชีนี้มีเท่าไหร่ก็เอารายการย้อนหลัง (ซึ่งจะเก็บไว้ตั้งแต่เปิดบัญชี) มาบวกลบกันง่าย ๆ ก็จะรู้แล้วว่าเลขบัญชีนั้นมีเงินเท่าไหร่ และตรวจสอบที่มาที่ไปได้ตลอดว่า โอนเข้ามาจากไหน โอนออกไปไหน
เหมือนเราอยู่ในตลาดแห่งหนึ่ง กลางตลาดมีสมุดบัญชีเป็นกระดานแผ่นใหญ่เขียนให้ทุกคนในตลาดได้เห็นว่าเลขบัญชีนี้โอนให้เลขบัญชีนี้เท่าไหร่ ตอนกี่โมง วันที่เท่าไหร่ ทุกคนที่มีบัญชีสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลาว่าแต่ละบัญชีมีการโอนเงินเท่าไหร่ โอนไปให้บัญชีไหน กี่ครั้ง สรุปแล้วแต่ละบัญชีเหลือเท่าไหร่ ด้วยวิธีแบบนี้ ถ้า ก. จะโอนเงินให้ ข. 1,000 ทั้งที่บัญชีมีเพียง 100 ข. ก็จะตรวจสอบกลับไปได้ว่า ก. มีเงินพอจะโอนให้หรือเปล่า เมื่อเห็นว่ามีเพียงแค่ 100 จะโอน 1,000 ไม่ได้แน่นอน ถ้า ก. พยายามจะเขียนลงสมุดบัญชีว่าโอน ทั้งที่เงินไม่พอ ข. ก็จะรู้
ไม่ใช่แค่ ข. เท่านั้น ทุกคนจะเห็นแล้วว่าไม่ถูกต้อง ก็จะลบการโอนเงินครั้งนี้ออกไปจากสมุดบัญชี
หรืออีกปัญหาหนึ่ง คือจ่ายซ้อน เช่น ก. ต้องการซื้อของจาก ข. ราคา 100 และจาก ค. ราคา 100 แต่ ก. มีเงินทั้งตัวเพียงแค่ 100 เท่านั้น
ถ้า ข. ตรวจสอบบัญชี ก. ก็จะเห็นว่ามีเงินพอ และถ้า ค. ตรวจสอบบัญชี ก. เช่นกัน ก็เห็นว่ามีเงินพอ แต่ทั้ง ข. และ ค. ไม่รู้ว่า ก. มีแค่ 100 แต่จะโอนเงินจำนวนนั้นให้ทั้ง ข. และ ค.
อ้าว ซวยละสิ
ถ้าเป็นระบบธนาคาร การโอนจะต้องผ่านเซิร์ฟเวอร์ของธนาคารซึ่งจะบันทึกการโอนทีละรายการ ก. มีเงินในบัญชี 100 บาท โอนเงินซื้อสินค้าราคา 100 บาท จาก ข. เงินในบัญชีก็จะเหลือ 0 ไม่มีเงินเหลือพอจะโอนให้ ค. ต่อ
แต่ในระบบดิจิทัลที่ไม่มีเซิร์ฟเวอร์ ถ้า ก. บันทึกว่าให้ ข. 100 ให้ ค. 100 ในเวลา 12.00 พร้อมกัน ตรงนี้เรียกว่าปัญหาจากการจ่ายเงินซ้ำซ้อน (Double-spending) ซึ่งเป็นปัญหาในการพัฒนาระบบเงินดิจิทัล ทำให้ไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ
ข. ก็คิดว่าตัวเองได้เงินจาก ก. 100
ค. ก็คิดว่าตัวเองได้เงินจาก ก. 100
แต่ ก. มีเงินแค่ 100 แล้วมันจะเป็นอย่างไร ถ้าเกิดเป็นแบบนี้สกุลเงินนี้จะไม่ได้รับความน่าเชื่อถือแน่นอน
ในระบบธนาคารปกติ ธนาคารคือผู้รับรองการโอน ซึ่งทำได้เพราะเป็นเจ้าภาพ หรือเป็นเจ้าของ/ผู้ดูแลเซิร์ฟเวอร์ ก. ไม่มีทางจะโอนเงินพร้อมกัน 2 บัญชี เพราะธนาคารจะโอนและบันทึกทีละรายการ
ในบล็อกเชนจะให้บุคคลที่ 3 เป็นคนยืนยันการโอน ซึ่งเรียกว่ามายเนอร์ (Miner) หรือ “นักขุดเหมือง” ทำไมถึงเรียกว่า นักขุดเหมือง เดี๋ยวจะอธิบาย
การสร้างความน่าเชื่อถือ
บล็อกเชนก็ต้องหาคนมารับรองการโอน ทำหน้าที่แบบเดียวกับธนาคารเป็นผู้บันทึกและรับรองว่ามีการโอนครั้งนั้นเกิดขึ้น
เมื่อ ก. บอกว่าได้โอนเงินให้ ข. แล้วนะ สถานการโอนจะยังเป็น “การโอนที่ไม่ได้รับการยืนยัน” (Unconfirmed Transaction) และจะยังไม่ได้ปรับปรุงข้อมูลการโอนนี้ จนกว่ามายเนอร์จะมายืนยันการโอน จึงจะบันทึกข้อมูลนี้ไว้ในบล็อกเชน
นึกถึงกระดานกลางตลาดที่ยกตัวอย่างตอนแรก ก. โอนให้ ข. จะยังไม่มีใครเขียนการโอนครั้งนั้นขึ้นกระดาน จนกว่าจะมีคนกลางมาจดการโอนครั้งนั้นให้ ซึ่งคนจะจดก็ต้องดูก่อนว่า คนจะโอนมีเงินพอมั้ย เช่น ก. จะโอนให้ ข. 100 มายเนอร์จะดูก่อนว่า ก. มีเงินให้ ข. 100 หรือไม่ ถ้ามีถึงรับรอบการโอน ซึ่งข้อมูลถึงจะบันทึกไว้ในระบบ
บล็อกเชนจะใช้มายเนอร์เป็นคนรับรองและประกาศการโอนเงิน
มายเนอร์เป็นใคร ไว้ใจได้หรือไม่? ถ้าเทียบระบบธนาคารทั่วไป ธนาคารทำหน้าที่มายเนอร์ ตรงนี้น่าเชื่อถือ (เพราะถ้าไม่น่าเชื่อถือคงไม่เอาเงินไปฝากไว้แต่แรก) โดยธนาคารได้ผลประโยชน์ตอบแทนจากค่าธรรมเนียมธุรกรรมต่าง ๆ (ไม่นับการเอาเงินฝากไปปล่อยกู้เอากำไร) แต่ในโลกบล็อกเชน มายเนอร์เป็นใครมาจากไหนไม่รู้ อาจจะเป็นเด็กสามขวบ หรือเป็นแมวพิมพ์ก็ได้ แล้วมายเนอร์จะได้ประโยชน์อะไรจากการรับรองและประกาศการโอนเงิน ใครจะว่างและเสียสละแบบนั้นถ้าไม่ได้รับสิ่งตอบแทน
บล็อกเชนจึงให้ผลตอบแทนกับผู้ทำหน้าที่มายเนอร์ เมื่อมีผลประโยชน์ก็มีคนอยากเป็นมายเนอร์ บล็อกเชนจึงสร้างระบบการแข่งขันพิสูจน์ความสามารถ หรือ Proof-Of-Work ซึ่งจะทำให้เลือกได้ว่าจะให้ใครเป็นผู้รับรองและประกาศการโอน และจะได้มั่นใจว่าคนที่ทำหน้าที่นี้มีความสามารถในการทำงานจริง ผู้ชนะการแข่งขันจะได้ทำหน้าที่รับรองและประกาศการโอน โดยมีผลประโยชน์ตอบแทนให้
ตรงนี้คือที่เรียกว่า มายเนอร์ หรือนักขุดเหมือง
คนเข้าแข่งเป็นผู้รับรองและประกาศจะต้องพิสูจน์ว่าตัวเองเก่งพอจะแก้โจทย์ที่ระบบสร้างขึ้น ใครเร็วกว่าตอบโจทย์ได้ก่อนก็ชนะ โจทย์ไม่ได้ยากหรอก เปรียบเทียบแล้วก็เหมือนสุ่มตัวเลขหลายหลัก เหล่ามายเนอร์ก็ต้องแข่งกันสุ่มตัวเลขให้ตรงกับโจทย์ ถ้ามายเนอร์สุ่มถูกก็ชนะ ได้เป็นผู้รับรองการโอน หรือ เป็นผู้จดข้อมูลลงสมุดบัญชี วิธีนี้ในทางทฤษฎีจะมีมายเนอร์มากมายหลายคน (จำนวนนับไม่ได้) ที่ผลัดเปลี่ยนมาเป็นผู้จดข้อมูลเข้าระบบ ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งผูกขาดเป็นผู้จดข้อมูลเข้าระบบ
การยืนยันการโอนจะไม่ได้ทำทีละรายการ แต่รวมทีละหลายรายการ (ปัจจุบันคือรายการที่เกิดขึ้นในช่วง 10 นาที) มันก็จะมีโค้ดตรวจสอบการถูกต้อง อันไหนไม่ถูกต้อง (เช่นโอน 100 แต่มีเงินแค่ 10) ก็จะโดนลบทิ้ง อันไหนเกิดขึ้นพร้อมกัน เช่น ก. มี 100 แต่โอนให้ ข หรือ ค. พร้อมกันรายละ 100) ก็จะเลือกเพียงแค่รายการใดรายการหนึ่งเท่านั้น (ในทางปฏิบัติการตรวจสอบพวกนี้ทั้งหมดไม่น่าจะนานเกิน 1 วินาที) ผู้ชนะการแข่งขันและได้เป็นผู้ตรวจสอบการโอนจนถึงประกาศบล็อกออกไปจะได้บิตคอยน์เป็นรางวัลตอบแทน นี่ก็คือการขุดเหมือง หรือขุดบิตคอยน์นั่นเอง
แต่วิธีการแข่งขันนี้ก็มีข้อเสีย เช่น คนมีเงินมากกว่าซื้ออุปกรณ์สำหรับตอบโจทย์ได้ประสิทธิภาพดีกว่า หากคนคนหนี้ หรือกลุ่มนี้รวมตัวกันแล้วชนะการแข่งขันมากขึ้น ไม่ต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ แค่เกินครึ่งมาหน่อยก็มีสิทธิทำให้ระบบปั่นป่วนแล้ว (ในทางทฤษฎีเรียกว่า 51% Attack) แต่ตอนนี้ปัญหาแบบนี้ยังไม่เกิดขึ้นเพราะมีมายเนอร์เข้ามาร่วมแข่งเยอะ
การประกาศรับรองข้อมูลการโอนในแต่ละช่วง เรียกว่าบล็อกซึ่งจะต้องระบุว่าเป็นบล็อกที่ต่อจากบล็อกไหน (ลำดับการโอนจะได้ถูกต้อง) และพอเอาบล็อกมาเรียงกันตามลำดับการเกิด นี่ก็คือที่มาของคำว่าบล็อกเชน
โอกาสผิดพลาด หรือการโกง
แล้วถ้าเกิดมีใคร เกิดอยากไปแก้ไขข้อมูลที่ได้รับรองไปแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่กล้าบอกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ระบบออกแบบมาป้องกันไว้ค่อนข้างรัดกุม
นั่นคือ สมมติมีใครสามารถเจาะบล็อกเข้าไปได้ แล้วต้องการเปลี่ยนแปลงข้อมูล เช่น ก. โอนเงินให้ ข. 1,000 ประกาศไปเรียบร้อยเข้าบล็อกไปแล้ว ก. เกิดมีความเก่งกล้าสามารถ เจาะเข้าบล็อกไปแก้ไขตัวเลขจาก 1,000 เหลือ 10
บล็อกเชนป้องกันปัญหานี้ไว้แล้ว โดยสร้างเงื่อนไขไว้ว่า โจทย์ที่ตั้งตอนสร้างบล็อกนั้นจะสัมพันธ์กับข้อมูลการโอนที่อยู่ในบล็อกนั้น ถ้ารายการในบล็อกเปลี่ยน โจทย์จะเปลี่ยนไป เมื่อโจทย์เปลี่ยน คำตอบเดิมของมายเนอร์ที่แข่งกันตอบโจทย์จะผิดทันที ผลกระคือบล็อกนั้นจะกลายเป็นบล็อกที่เสียหาย ใช้งานไม่ได้ ทุกคนจะรู้หมด
ถ้า ก. ไม่อยากให้ใครรู้ก็ต้องทำให้บล็อกใช้งานได้ปกติ นั่นคือต้องหาคำตอบให้ตรงโจทย์ไม่เช่นนั้นบล็อกนั้นใช้งานไม่ได้ ถ้า ก. ตอบโจทย์ถูก รหัสประจำบล็อกก็จะเปลี่ยนไป เพราะรหัสจะขึ้นกับข้อมูลในบล็อกนั้น ทุกอย่างสัมพันธ์กันหมด ตั้งแต่ข้อมูลรายการโอนในบล็อก โจทย์ คำตอบ และรหัสประจำบล็อก
เมื่อแก้ไขบล็อกแล้วรหัสประจำบล็อกเปลี่ยน บล็อกที่ตามมาซึ่งใช้รหัสประจำบล็อกของบล็อกก่อนหน้าในการเรียงลำดับก็จะเรียงลำดับไม่ได้ การเรียงต่อผิดพลาดบล็อกนั้นจะใช้งานไม่ได้ทันที ทุกคนก็จะรู้ว่ามีปัญหา ถ้า ก. ไม่อยากให้ใครรู้ก็ต้องไปแก้บล็อกต่อไป ขณะที่แก้โจทย์บล็อกอยู่ ก็จะมีบล็อกใหม่เกิดขึ้นไปพร้อมกัน แก้ 1 บล็อก เกิด 1 บล็อก แบบนี้ก็จะไม่มีวันจบสิ้นเพราะไม่เช่นนั้นบล็อกจะพัง ถ้าหยุดแก้บล็อกไหนจะทำให้การเชื่อมต่อผิดพลาดทั้งหมดใช้งานไม่ได้อีกต่อไป
นี่คือเหตุผลที่ทำให้คนเชื่อมั่นในความปลอดภัยของบิตคอยน์ การแอบแก้ไขข้อมูลที่อยู่ในบล็อกเชน ณ ปัจจุบันนี้แทบเป็นศูนย์ ยิ่งมีผู้ใช้เยอะ ยิ่งปลอดภัย เพราะคนที่คิดเจาะระบบมาแก้ไม่สามารถแก้ ข้อมูลของทุกคน และถ้าจะแก้รายการเดินบัญชีในมือตัวเองอย่างเดียว แต่ข้อมูลในมือคนอื่นไม่ได้แก้ไปด้วย ข้อมูลนั้นก็ไม่น่าเชื่อถือ
นี่คือระบบบล็อกเชน คือระบบที่นำข้อมูลไปดำเนินการต่อเนื่องได้จากทุกที่ และมีการบันทึกส่งต่อกันเป็นทอด ๆ ตรวจสอบได้ตลอดเวลา
ด้วยเหตุผลนี้เทคโนโลยีบล็อกเชนถึงมีคนคิดนำไปใช้อย่างอื่นมากขึ้น เพราะปลอดภัย ทำงานได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีผู้ดูแลระบบ ไม่ต้องกังวลว่าระบบจะล่ม ยกเว้นมนุษย์กลับไปสู่ยุคหินโลกนี้ไม่มีไฟฟ้าใช้ ทางหน่วยงานของรัฐเช่น คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการดำเนินการศุลกากรเชิงพาณิชย์ ของสหรัฐอเมริกาก็กำลังพัฒนาบล็อกเชนที่จะนำมาปรับใช้กับศุลกากร
Blockchain คือเทคโนโลยีสำหรับอนาคตจริง ๆ
อ้างอิง https://en.wikipedia.org/wiki/Blockchain