สำหรับ QGIS Workspace นี้เป็นตอนที่ 2 ของบทความชุด “มือใหม่หัดใช้ QGIS” ในตอนที่แล้ว ได้แนะนำเรื่องการดาวน์โหลดตัวติดตั้ง ความแตกต่างระหว่างเวอร์ชันที่ออกมา และสำหรับมือใหม่ที่ไม่เคยใช้งาน QGIS มาก่อนควรเลือกติดตั้งแบบไหนดี
ครั้งนี้จะพูดถึงหน้าตาหรือพื้นที่ทำงาน ของ QGIS
QGIS Workspace
โดยทั่วไปแล้ว เมื่อเปิด QGIS ขึ้นมา จะเห็นหน้าตาแบบนี้
Project Name
ด้านบนสุด จะเป็นชื่อโปรเจ็กต์ที่เราเปิดอยู่ ในตัวอย่างนี้เปิดขึ้นมาใหม่ ๆ ยังไม่ได้ตั้งชื่อ เลยเป็น Untitled Project อยู่ แต่ถ้าเป็นการเปิดโปรเจ็กต์ที่ทำเอาไว้แล้วจะมีชื่อโปรเจ็กต์นั้นแสดงอยู่ตรงนี้
Menu Bars
ด้านล่างลงมาหน่อย จะเป็น Menu Bars ก็คือปุ่มคำสั่งสำหรับการทำงานต่าง ๆ รายละเอียดว่ามีอะไรบ้างไว้ค่อยพูดกันภายหลัง
TOOLBARS
ต่อจาก Menu Bars ก็คือ TOOLBARS เป็นส่วนที่แสดงเครื่องมือต่าง ๆ ที่จะใช้ในการทำงาน เราสามารถซ่อนหรือแสดง Toolbars ที่เราจะใช้งานได้ โดยการไปที่เมนู View เลือก Toolbars แล้วคลิกเลือกเครื่องหมายถูกที่หน้าเครื่องมือที่ต้องการให้แสดง หรือ เอาเครื่องหมายถูกออกถ้าไม่ต้องการให้แสดงเครื่องมือนั้น
หรือจะเอาเมาส์ไปไว้ที่ว่าง ๆ ด้านบน แล้วคลิกขวาก็ได้ จะมีตัวเลือกให้เราติ๊กเครื่องหมายถูกหน้าเครื่องมือที่อยากให้แสดงหรือเอาเครื่องหมายถูกออกถ้าต้องการซ่อนเครื่องมือนั้นไม่ให้แสดงผล
เราสามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่งของเครื่องมือแต่ละอย่างได้ เพียงแค่เอาเมาส์มาวางหน้าเครื่องมือที่ต้องการ ให้เคอเซอร์เปลี่ยนเป็นกากบาทที่เป็นหัวลูกศรแบบนี้ คลิกซ้ายค้างไว้ แล้วก็ลากไป จะลากออกมาไว้เดี่ยว ๆ ก็ได้ เอาไปแปะด้านซ้ายก็ได้ ด้านขวาก็ได้ ด้านล่างก็ได้
Panels
ถัดลงมาด้านซ้ายมือ จะเป็น Panel ซึ่งค่าตั้งต้นที่ให้มาจะเป็น Browser กับ Layer Panel ท่านสามารถซ่อนหรือแสดงมากกว่านี้ก็ได้ คล้ายกับ Toolbars คือไปที่ View เลือก Panel แล้วคลิกเลือกเครื่องหมายถูกที่หน้า Panel ที่ต้องการให้แสดง หรือ เอาเครื่องหมายถูกออกถ้าไม่ต้องการให้แสดง panel นั้น
Browser Panel ทำหน้าที่แสดงโฟลเดอร์และตำแหน่งที่ตั้งของไฟล์ข้อมูลต่าง ๆ ตรงนี้ทำหน้าที่เหมือนเอ็กพอเรอร์ทั่วไป คือเราสามารถเลือกไดเร็กทอรี่ สามารถซ่อนชั้นไดเร็กทอรี่ (คลิกสามเหลี่ยมหรือเครื่องหมายบวกลบ) และลากไฟล์มาใช้งานได้เลย เราสามารถจับลากไปไว้ตรงไหนก็ได้
Layer Panel ทำหน้าที่แสดงชั้นข้อมูลต่าง ๆ ในโปรเจ็กต์ที่กำลังทำงานอยู่ ถ้าเราคลิกขวาตรงเลเยอร์ที่กำลังทำงานนั้น ๆ จะมี option ให้เลือกหลายตัว ซึ่งเราจะมาพูดถึงกันภายหลัง
Map View
พื้นที่ตรงกลางนี้เรียกว่า MAP View หรือ พื้นที่ทำงาน ที่จะแสดงฟีเจอร์ต่าง ๆ ถ้าเลื่อนล้อหมุนที่เมาส์จะเป็นซูมเข้า-ออก สามารถกดเพื่อเลื่อนซ้ายขวาได้เหมือนกัน นี่คือส่วนสำคัญสำหรัญ QGIS Workspace
Status Bar
และส่วนสุดท้าย ด้านล่างสุด เรียกกว่า STATUS BAR สำหรับแสดงสถานะข้อมูลต่าง ๆ อย่างเช่นตรงมุมขวาสุดจะเป็น CRS Coordinate reference system ซึ่งสำคัญมากเพราะจะบอกว่าเรากำลังทำงานในระบบพิกัดแบบไหนอยู่
ปรับแต่ง User Interface
TIPS: ตรง status bar นี่นึกอะไรได้อย่างหนึ่ง เคยมีคำถามจากผู้ร่วมงานบางท่านว่าเปิด QGIS แล้ว ตัวเลขกลายเป็นเลขไทย ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนตรงบริเวณสเตตัสบาร์นี่แหละ แต่ความจริงจะไปแสดงผลที่อื่น ๆ ด้วย
สาเหตุก็เป็นเพราะว่าบางท่านตั้งค่าคอมพิวเตอร์ (หรือวินโดวส์) ให้เป็นประเทศไทย แล้วตั้งฟอร์แมตเป็นไทย ตัวเลขก็เลยเป็นเลขไทย ส่วนในตัวอย่างนี้จะเป็นเลขอารบิก เพราะตั้งค่า Regional Setting เป็นสหราชอาณาจักรไว้
แต่ถ้าหากท่านอยากให้เป็นเลขอารบิก ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนค่า Regional Setting ของวินโดวส์แต่อย่างใด เราปรับแต่งใน QGIS ได้ง่าย ๆ
วิธีการคือ ไปที่ Menu Setting เลือก Option
เมื่อหน้าต่าง Option เปิด ให้ดูที่แท็บ General
ติ๊กถูก หน้า Override System Locale
ให้ดูตรง หัวข้อย่อย Locale (Number, Date and Currency Format) เลือกภาษาตรงนี้ ให้เป็น English หรือจะเลือกอะไรก็ตามสะดวก โดยส่วนตัวถ้าจะเลือก ก็จะเลือกเป็น United Kingdom หรือ สหราชอาณาจักร
ส่วนหัวข้อย่อย User Interface Translation นั้น คือการแปลภาษาเมนูและคำแนะนำต่าง ๆ ใน QGIS เป็นภาษาที่เราต้องการ แต่เท่าที่ดูไม่มีภาษาไทย
ไหน ๆ ก็เข้ามาแล้ว เรามาปรับปรับแต่งต่อเล็กน้อย
ดูตรงหัวข้อ Application หรือการปรับแต่งหน้าตา QGIS
Style ก็คือการปรับแต่งหน้าตาสีสัน
UI Theme ก็คือรูปแบบโทนสีภาพลักษณ์
Icon เราจะปรับให้มันใหญ่หรือเล็กลงก็ได้
Font จะปรับตัวอักษรเป็นตัวอื่น เปลี่ยนที่ตรงนี้ได้นะครับ หรือปล่อย font เป็น default ไว้ก็แล้วแต่ เอาที่ปรับแต่งแล้วสะดวกต่อการใช้งานก็พอ โดยส่วนตัวชอบขยับขนาดตัวอักษร เป็น 12 เพื่อให้อ่านสะดวก ๆ (ค่าตั้งต้นจะเป็น 8 มันเล็กไปหน่อย)
ลงมาก็คือ ตัวเลือกอื่น ๆ อย่างเช่น
Hide Splash Screen ก็คือหน้าต่างเล็ก ๆ ที่มีโลโก้ QGIS ตอนเปิด จะซ่อนไว้หรือจะให้แสดงก็ได้
ส่วนเช็คเวอร์ชันนี่ก็แล้วแต่ท่านก็แล้วกัน อย่างที่เคยอธิบายให้ทราบในตอนที่แล้วว่า ผู้พัฒนา QGIS เขาปล่อย release ใหม่ทุก 4 เดือน และระหว่างนั้นก็มีเวอร์ชันแก้ไขปรับปรุงออกมาอีก สำหรับบางท่านที่ไม่จำเป็นต้องใช้ของใหม่ล่าสุดก็เอาตรงนี้ออกก็ได้ แต่ถ้าติ๊กเอาไว้ เวลามีเวอร์ชันใหม่ก็จะมีแถบสีขึ้นข้อความเตือนว่า มีเวอร์ชันใหม่ออกมาแล้วนะ
ลงมาตรง project file จะมีให้เลือกว่า เวลาเปิด QGIS ขึ้นมาจะให้แสดงอะไร หน้า Welcome page หรือ จะเลือก Recent Project (งานเก่า ๆ ที่เคยทำไว้) หรือจะ Specific คือกำหนดเฉพาะเจาะจงว่าจะเปิดโปรเจ็กต์ไหน หรือจะเลือกว่า ให้เปิดโปรเจ็กต์ใหม่อัตโนมัติเลยก็ได้
ลองเล่นดูนะครับ เล่นเสร็จแล้ว คลิก OK
สำหรับการเปลี่ยนแปลงบางส่วน เช่นเปลี่ยนเลขไทยเป็นอารบิกนี่ยังไม่เห็นผลนะครับ
ต้องปิดก่อน แล้ว เปิดขึ้นมาใหม่
นี่คือ QGIS Workspace หรือ หน้าตาคร่าว ๆ ของ QGIS ไว้คราวหน้าจะมาพูดถึงเรื่องปลั๊กอินส์ต่าง ๆ ที่น่าสนใจ
หมายเหตุ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ docs.qgis.org/3.16/en/docs/user_manual/introduction/qgis_gui.html