การปัดเศษ ด้วยฟังก์ชันใน Excel มีหลายวิธี จะว่าไป Excel ก็ทำฟังก์ชันมาช่วยสนับสนุนการทำงานให้ง่ายขึ้น ขณะที่ผู้ใช้งานอย่างเราก็เริ่มงงว่า ฟังก์ชันมันก็ดูคล้าย ๆ กัน จะทำแยกออกมาทำไม อย่างเช่นเรื่องปัดเศษนี่แหละ มีทั้ง Floor Round Int จะว่าไปก็คล้ายกันอยู่ บางอย่างก็ใช้แทนกันได้ แต่บางอย่างก็ต้องใช้เฉพาะเจาะจงกันไป ต้องดูเงื่อนไขที่เราต้องการ เช่น อยากจะปัดขึ้นอย่างเดียว หรือปัดลงอย่างเดียว หรือจะกำหนดว่าอยากจะให้ปัดเศษตามเงื่อนไขอื่น
การปัดเศษ ด้วย ROUND
ROUND เป็นฟังก์ชันที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปเมื่อปัดตัวเลขใน Excel โดยกำหนดว่าจะให้ปัดเศษที่หลักใด (หลักหน่วย หลักสิบ หลักร้อย…) การใช้ ROUND นี้จะมีทั้งปัดขึ้นและปัดลง แล้วแต่ว่าตัวเลขใดใกล้เคียงหลักที่กำหนดมากกว่า สมมติมีตัวเลข 1,495.5123 ถ้าเราอยากปัดเศษที่หลักหน่วย (ไม่มีทศนิยม) จะได้เป็น 1,496 (เพราะเศษเกินครึ่ง จึงปัดขึ้น) หรืออยากจะปัดเศษให้มีทศนิยม 2 ตำแหน่ง ก็จะได้ 1,495.51 (เพราะเศษต่อจากนั้นไม่ถึงครึ่ง เลยปัดลง) แบบนี้เป็นต้น
สูตรการใช้งานก็คือ
ROUND (ตัวเลข, จำนวนหลักที่ต้องการ)
โดย จำนวนหลักที่ต้องการ นี้ ถ้าเป็น 0 คือ ไม่มีทศนิยม ถ้าเป็น 1 คือทศนิยม 1 ตำแหน่ง ถ้าเป็น 2 คือทศนิยม 2 ตำแหน่ง และในทางกลับกัน ถ้าเป็น -1 คือ ปรับที่หลักหน่วย (ให้ลง 0) ถ้าเป็น -2 คือปรับที่หลัก 10 (ให้ลงเป็น 00)
เช่น
หากต้องการให้มีทศนิยม 2 ตำแหน่ง เราจะใส่เป็นเลข 2 เขียนเป็นสูตรได้ว่า ROUND (ตัวเลข, 2) ตัวอย่างเช่น
- ถ้าตัวเลขคือ 1,495.5123 ใช้สูตร ROUND (1,495.5123,2) ฟังก์ชันจะปรับทศนิยมจาก 4 ตำแหน่ง (หรือกี่ตำแหน่งก็ตาม) ให้กลายเป็นทศนิยม 2 ตำแหน่งที่ใกล้เคียงที่สุด ผลลัพธ์จะได้ 1495.51
- ถ้าตัวเลขคือ 1,234 ใช้สูตร ROUND (1,234,2) ผลลัพธ์จะได้ 1,234.00 หรือ 1,234 (ขึ้นอยู่กับการกำหนด Format Cell ด้วย)
หากต้องการให้เป็นจำนวนเต็มไม่มีทศนิยม ให้ใส่ 0 กำกับไว้ สูตรคือ ROUND (ตัวเลข, 0) ตัวอย่างเช่น
- ถ้าตัวเลข คือ 1,495.5123 ใช้สูตร ROUND(1,495.5123,0) ฟังก์ชันจะปัดเศษทศนิยม ไปเป็นจำนวนเต็มที่ใกล้เคียงที่สุดคือ 1,496
- ถ้าตัวเลข คือ 1,234 ใช้สูตร ROUND(1,234,0) ผลลัพธ์จะได้ 1,234 เพราะไม่มีเศษทศนิยมอยู่แล้ว
หากต้องการปัดขึ้นหรือลงทีละ 10 (เช่น 10 20 30 40…) ให้ใส่ -1 สูตรคือ ROUND (ตัวเลข, -1) ตัวอย่างเช่น
- ถ้าตัวเลขเป็น 1,495.5123 ใช้สูตร ROUND(1,495.5123,-1) จะปัดเศษในหลักสิบ ผลลัพธ์จะได้ 1,500 เพราะหลักหน่วยเกินครึ่งจึงปัดขึ้น)
- ถ้าตัวเลขเป็น 1,234 ใช้สูตร ROUND(1,234,-1) ผลลัพธ์จะได้ 1,230 (เพราะหลักหน่วยไม่ถึงครึ่ง เลยปัดลง)
ถ้าต้องการปัดขึ้นหรือลงที่ละ 100 (เช่น 100 200 300…)ให้ใส่ -2 สูตรคือ ROUND (ตัวเลข, -2)
- ถ้าตัวเลข คือ 1,495.5123 ใช้สูตร ROUND(1,495.5123,-2) จะปัดเศษในหลักสิบ ผลลัพธ์จะได้ 1,500 (เพราะจำนวนที่หลักสิบ เกินครึ่ง จึงปัดขึ้น)
- ถ้าตัวเลขที่ คือ 1,234 ใช้สูตร ROUND(1,234,-2) ผลลัพธ์จะได้ 1,200 (เพราะหลักสิบไม่ถึงครึ่งเลยปัดลง)
ฟังก์ชัน ROUND จะปัดเข้าหาตัวเลขที่ใกล้ที่สุดตามหลักที่กำหนด จึงมีทั้งปัดขึ้นและปัดลง หากต้องการบังคับให้ปัดเศษขึ้นหรือลงเท่านั้น จะใช้ฟังก์ชัน ROUNDUP หรือ ROUNDDOWN โดยสูตรจะเหมือนกับ ROUND ทุกประการ เพียงแต่กำหนดเจาะจงไปว่าจะให้ปัดขึ้นหรือลง
ROUNDUP
ROUNDUP ปัดเศษโดยกำหนดว่าปัดขึ้นเท่านั้น โดยมีวิธีเขียนสูตรเหมือนกับ ROUND ทั่วไป เช่น ถ้าต้องการปัดที่หลักหน่วย ให้ใส่ -1 ถ้าต้องการปัดที่หลักสิบให้ใส่ -2 เป็นต้น ตัวอย่างเช่น ต้องการจำนวนเต็มที่หลักสิบ สูตรคือ ROUNDUP (ตัวเลข, -2)
- ถ้าตัวเลข คือ 1,495.5123 ใช้สูตร ROUNDUP (1,495.5123,-2) ผลลัพธ์จะได้ 1,500
- ถ้าตัวเลข คือ 1,234 ใช้สูตร ROUNDUP (1,234,-2) ผลลัพธ์จะได้ 1,300
ROUNDDOWN
ROUNDDOWN คือการปัดตัวเลขโดยกำหนดว่าปัดลงเท่านั้น วิธีการและแนวคิดการใช้สูตรจะเหมือนกับ ROUND ทุกประการ คือ ถ้าต้องการปัดที่หลักหน่วย ให้ใส่ 0 ถ้าต้องการหลักสิบให้ใส่ -1 เป็นต้น ตัวอย่างเช่น ต้องการปัดลงเป็นจำนวนเต็มที่หลักสิบ สูตรคือ ROUNDDOWN (ตัวเลข, -2)
- ถ้าตัวเลข คือ 1,495.5123 ใช้สูตร ROUNDDOWN (1,495.5123,-2) ผลลัพธ์จะได้ 1,400 เพราะถึงแม้ว่าค่า 1,495.5123 จะใกล้เคียงกับ 1,500 มากกว่า แต่เราบังคับว่าจะต้อง “ปัดลง” อย่างเดียว จำนวนเต็มหลักร้อยที่ปัดลงใกล้เคียงกับ 1,495.5123 ก็คือ 1,400 บาท
- ถ้าตัวเลข คือ 1,234 ใช้สูตร ROUNDDOWN (1,234,-2) ผลลัพธ์จะได้ 1,200
ข้อสังเกต
การใช้ฟังก์ชัน ROUND ช่วยปัดเศษ อาจจะแสดงผลเหมือนกับการใช้ Custom Format Cell แต่ค่าที่เก็บใน Cell จะไม่เหมือนกัน เพราะการใช้ Custom Format Cell เปลี่ยนแค่การแสดงผล แค่ค่าที่แท้จริงยังคงเท่าเดิม แต่ ฟังก์ชัน ROUND จะเปลี่ยนค่าไปเลย เวลานำไปคำนวณอาจทำให้สับสนว่าทำไมได้ค่าไม่ตรงกันก็ได้ อย่างที่เคยเกิดกรณีคำถามว่า ทำไม excel คำนวณไม่ตรง
การปัดเศษ ด้วย FIXED
ฟังก์ชัน FIXED จะคล้ายฟังก์ชัน ROUND ปัดค่าตัวเลขเป็นเลขทศนิยมตามที่ระบุ แต่จะเก็บค่าในรูปแบบ Text หรือ ข้อความ
สูตรคือ
FIXED (ตัวเลข, [จำนวนทศนิยม], [จุลภาค - True or False])
ถ้า จำนวนทศนิยม เป็นค่าลบจะปัดเศษที่จำนวนเต็มแบบเดียวกับ ROUND ทุกประการ แต่ ผลลัพธ์ของฟังก์ชันนี้จะโดนแปลงรูปแบบข้อมูลเป็นข้อความ ดังนั้นถ้ากำหนดค่าตรง “ไม่ใส่จุลภาค” เป็น True ผลลัพธ์จะไม่ใส่จุลภาคคั่น ถ้าใส่เป็น False จะใส่จุลภาคคั่น (ย้ำอีกครั้งว่าจุลภาคในนี้มีค่าเป็นข้อความ ไม่ใช่เป็นเครื่องหมายคั่นหลักร้อย หลักหมื่นเหมือนมีค่าเป็นตัวเลข)
ในไวยากรณ์จะใส่ [ ] แปลว่านี่คือ option เสริม ไม่ต้องใส่ก็ได้ โดย ถ้าไม่ใส่กำกับไว้ ตัวฟังก์ชัน FIXED จะถือค่าเริ่มต้นเป็นทศนิยม 2 ตำแหน่ง และใส่เครื่องหมายจุลภาค (คือ False) นั่นคือ ถ้าเราใส่แต่ตัวเลข โดยไม่กำหนดค่าอื่น ๆ เช่น
- ถ้าตัวเลข คือ 1995.5123 ใช้สูตร FIXED (1995.5123) ผลลัพธ์จะได้ 1,995.51 เท่ากับใช้สูตร FIXED (1995.5123, 2, FALSE)
- ถ้าตัวเลข คือ 1901.4987 ใช้สูตร FIXED (1901.4987) ผลลัพธ์จะได้ 1,901.50 เท่ากับใช้สูตร FIXED (1901.4987, 2, FALSE)
- ถ้าตัวเลข คือ -1995.5123 ใช้สูตร FIXED (-1995.5123) ผลลัพธ์จะได้ -1,995.51 เท่ากับใช้สูตร FIXED (-1995.5123, 2, FALSE)
- ถ้าตัวเลข คือ -1901.4987 ใช้สูตร FIXED (1901.4987) ผลลัพธ์จะได้ -1,901.50 เท่ากับใช้สูตร FIXED (1901.4987, 2, FALSE)
ถ้ากำหนด “จุลภาค” เป็น True ผลลัพธ์ที่ออกมาจะไม่มีเครื่องหมายจุลภาคคั่น เช่นใช้สูตร FIXED ตัวเลข, 2, TRUE)
- ถ้าตัวเลข คือ 1995.5123 ใช้สูตร FIXED (1995.5123, 2, TRUE) ผลลัพธ์จะได้ 1995.51 เท่ากับใช้สูตร FIXED (1995.5123, 2, FALSE) แต่ไม่มีจุลภาคคั่น
- ถ้าตัวเลข คือ 1901.4987 ใช้สูตร FIXED (1901.4987, 2, TRUE) ผลลัพธ์จะได้ 1901.50 เท่ากับใช้สูตร FIXED (1901.4987, 2, FALSE) แต่ไม่มีจุลภาคคั่น
- ถ้าตัวเลข คือ -1995.5123 ใช้สูตร FIXED (-1995.5123, 2, TRUE) ผลลัพธ์จะได้ -1995.51 เท่ากับใช้สูตร FIXED (-1995.5123, 2, FALSE) แต่ไม่มีจุลภาคคั่น
- ถ้าตัวเลข คือ -1901.4987 ใช้สูตร FIXED (1901.4987, 2, TRUE) ผลลัพธ์จะได้ -1901.50 เท่ากับใช้สูตร FIXED (1901.4987, 2, FALSE) แต่ไม่มีจุลภาคคั่น
การปัดเศษ ด้วย FLOOR
ฟังก์ชัน FLOOR จะปัดตัวเลขลงสู่ตัวเลขโดยให้เป็นจำนวนเท่าของค่าที่กำหนดไว้ มีไวยากรณ์สำหรับเขียนสูตรคือ
FLOOR (ตัวเลข, จำนวนสำหรับปัด)
จำนวนสำหรับปัด นี้จะคิดเป็นจำนวน “เท่าทวีคูณ” เท่านั้น และเป็นอย่างเดียวกันทั้ง FLOOR และ CEILING (ทั้งสองฟังก์ชันมีไวยากรณ์สำหรับเขียนสูตรเหมือนกันทุกอย่าง เพียงแค่ FLOOR ปัดลง ส่วน CEILING จะปัดขึ้น)
เช่นต้องการปัดเศษ ตัวเลข 1995.5123 ทีละ 50
ใช้สูตร FLOOR จะเหลือ 1950 เพราะค่าเต็มของ 50 ที่ใกล้เคียง 1995.5123 ในข้างต่ำกว่า มากที่สุดคือ 1,950 (50×39 = 1950 ตัดเศษ 45.5123ทิ้ง) จะไม่ใช่ 2000 (50 x 40) แม้ว่าค่าจะใกล้เคียงกว่า เพราะ 2000 เป็นค่าสูงกว่า 1995.5123
ในทางกลับกัน ถ้าใช้สูตร CEILING จะได้ 2000 คือค่าเต็มที่คูณจำนวนสำหรับปัดแล้ว ได้ใกล้เคียงในค่าสูงกว่า
ตัวอย่างการปัดจำนวนลง โดยใช้ FLOOR มีดังนี้
- ถ้าตัวเลข คือ 1995.5123 ใช้สูตร FLOOR (1995.5123,50) ผลลัพธ์จะได้ 1950
- ถ้าตัวเลข คือ 1901.4987 ใช้สูตร FLOOR (1901.4987,50) ผลลัพธ์จะได้ 1900
- ถ้าตัวเลข คือ -1995.5123 ใช้สูตร FLOOR (-1995.5123,50) ผลลัพธ์จะได้ -2000
- ถ้าตัวเลข คือ -1901.4987 ใช้สูตร FLOOR (-1901.4987,50) ผลลัพธ์จะได้ -1950
FLOOR.MATH
ฟังก์ชัน FLOOR.MATH จะมีผลเฉพาะตัวเลขที่มีค่าลบเท่านั้น ถ้าเป็นค่าบวกจะได้ผลลัพธ์เหมือใช้ฟังก์ชัน FLOOR โดยฟังก์ชัน FLOOR.MATH จะใช้สูตร
FLOOR.MATH (ตัวเลข, จำนวนสำหรับปัด, ทิศทางเข้าหาหรือออกห่างจาก 0)
โดยพื้นฐานแทบไม่มีความแตกต่างระหว่าง FLOOR กับ FLOOR.MATH เพียงแค่เพิ่ม Mode หรือตัวแปรทิศทางการเข้าหาหรือออกห่างจาก 0 ที่ใส่เพิ่มเข้ามา ถ้าใส่ 0 จะหมายถึงปัดเศษตามปกติ หรือการไม่บังคับทิศทาง ผลคือค่าลบจะยิ่งลบมากขึ้น (เพราะปัดเศษเข้าหาค่าต่ำกว่า ถ้าไม่ใส่กำหนดทิศทาง ฟังก์ชันจะคำนวณเหมือนใส่ค่า 0 โดยอัตโนมัติ ตัวอย่างเช่น
- ถ้าตัวเลข คือ 1995.5123 ใช้สูตร FLOOR.MATH (1995.5123, 50, 0) ผลลัพธ์จะได้ 1950
- ถ้าตัวเลข คือ 1901.4987 ใช้สูตร FLOOR.MATH (1901.4987, 50, 0) ผลลัพธ์จะได้ 1900
- ถ้าตัวเลข คือ -1995.5123 ใช้สูตร FLOOR.MATH (-1995.5123, 50, 0) ผลลัพธ์จะได้ -2000
- ถ้าตัวเลข คือ -1901.4987 ใช้สูตร FLOOR.MATH (-1901.4987,50, 0) ผลลัพธ์จะได้ -1950
แต่ถ้ากำหนดค่าทิศทางเป็นเลขอื่นที่ไม่ใช่ 0 เช่นกำหนดค่า 1 หรือ -1 จะปัดค่าเข้าหา 0 ซึ่งนัยสำคัญนี้จะเห็นผลเมื่อตัวเลขมีค่าติดลบเท่านั้น
- ถ้าตัวเลข คือ 1995.5123 ใช้สูตร FLOOR.MATH (1995.5123, 50, 1) ผลลัพธ์จะได้ 1950
- ถ้าตัวเลข คือ 1901.4987 ใช้สูตร FLOOR.MATH (1901.4987, 50, 1) ผลลัพธ์จะได้ 1900
- ถ้าตัวเลข คือ -1995.5123 ใช้สูตร FLOOR.MATH (-1995.5123, 50, 1) ผลลัพธ์จะได้ -1950
- ถ้าตัวเลข คือ -1901.4987 ใช้สูตร FLOOR.MATH (-1901.4987,50, 1) ผลลัพธ์จะได้ -1900
FLOOR.PRECISE
ฟังก์ชัน FLOOR.PRECISE จะคล้ายกับ FLOOR คือจะปัดเศษลงเป็นจำนวนเต็มที่ใกล้ที่สุดกับค่าจำนวนเท่าของตัวเลขที่กำหนด สูตรคือ
FLOOR.PRECISE (ตัวเลข, จำนวนสำหรับปัด)
ซึ่งถ้าไม่ระบุจำนวนเท่า คือ จะกำหนดค่า 1 โดยอัตโนมัติ
ความแตกต่างระหว่าง FLOOR กับ FLOOR.PRECISE อยู่ที่ค่าจำนวนสำหรับปัด คือ ถ้าเป็นฟังก์ชัน FLOOR ค่าบวกหรือลบจะมีผลต่อการคำนวณ เช่นถ้ากำหนดจำนวนสำหรับปัดเป็น 0 ถ้าเป็น FLOOR จะแสดงผลว่ามีความผิดพลาดในตัวแปรที่กำหนด (เพราะ 0 คูณอะไรก็ได้ 0) แต่ถ้าเป็น FLOOR.PRECISE จะแสดงผลลัพธ์เป็น 0
หรือถ้า จำนวนสำหรับปัด เป็นค่าติดลบ ถ้าจำนวนตัวเลขมีค่าบวก จะแสดงผลว่าผิดพลาดเพราะจำนวนเท่า คือติดลบคิดทวีคูณไม่ได้ ขณะที่จำนวนตัวเลขมีค่าลบ
การปัดเศษ ด้วย CEILING
ฟังก์ชันที่ตรงข้ามกับ FLOOR แต่มีวิธีการคิดและเขียนเหมือนกัน
CEILING (ตัวเลข, จำนวนสำหรับปัด)
เช่นต้องการปัดตัวเลข 1995.5123 ทีละ 50 จะได้ 2000 เพราะค่าทวีคูณของ 50 ที่ใกล้เคียง 1995.5123 มากที่สุดคือ 2000 (50×40 = 2000 ปัดขึ้น) ลองดูตัวอย่าง การใช้ CEILING มีดังนี้
- ถ้าตัวเลข คือ 1995.5123 ใช้สูตร CEILING (1995.5123,50) ผลลัพธ์จะได้ 2000
- ถ้าตัวเลข คือ 1901.4987 ใช้สูตร CEILING (1901.4987,50) ผลลัพธ์จะได้ 1950
- ถ้าตัวเลข คือ -1995.5123 ใช้สูตร CEILING (-1995.5123,50) ผลลัพธ์จะได้ -1950
- ถ้าตัวเลข คือ -1901.4987 ใช้สูตร CEILING (-1901.4987,50) ผลลัพธ์จะได้ -1900
CEILING.MATH
ฟังก์ชัน CEILING.MATH จะมีผลเฉพาะตัวเลขมีค่าลบเท่านั้น ถ้าเป็นค่าบวกจะได้ผลลัพธ์เหมือใช้ฟังก์ชัน CEILING โดยฟังก์ชัน CEILING.MATH จะใช้สูตร
CEILING.MATH (ตัวเลข, จำนวนสำหรับปัด, ทิศทางเข้าหาหรือออกห่างจาก 0)
โดยพื้นฐานแทบไม่มีความแตกต่างระหว่าง CEILING กับ CEILING.MATH เพียงแค่เพิ่ม Mode หรือ “การกลับทิศ” ที่ใส่เพิ่มเข้ามา ถ้าใส่ 0 จะหมายถึง ไม่บังคับให้กลับทิศทางการปัด) ตัวอย่างเช่น
- ถ้าตัวเลข คือ 1995.5123 ใช้สูตร CEILING.MATH (1995.5123, 50, 0) ผลลัพธ์จะได้ 2000
- ถ้าตัวเลข คือ 1901.4987 ใช้สูตร FLOOR CEILING.MATH (1901.4987, 50, 0) ผลลัพธ์จะได้ 1950
- ถ้าตัวเลข คือ -1995.5123 ใช้สูตร CEILING.MATH (-1995.5123, 50, 0) ผลลัพธ์จะได้ -1950
- ถ้าตัวเลข คือ -1901.4987 ใช้สูตร CEILING.MATH (-1901.4987,50, 0) ผลลัพธ์จะได้ -1900
แต่ถ้ากำหนดค่าทิศทางเป็นเลขอื่นที่ไม่ใช่ 0 เช่นกำหนดค่า 1 หรือ -1 จะปัดค่าออกห่างจาก 0 ซึ่งนัยสำคัญนี้จะเห็นผลเมื่อตัวเลข คือมีค่าติดลบเท่านั้น
- ถ้าตัวเลข คือ 1995.5123 ใช้สูตร CEILING.MATH (1995.5123, 50, 1) ผลลัพธ์จะได้ 2000
- ถ้าตัวเลข คือ 1901.4987 ใช้สูตร CEILING.MATH (1901.4987, 50, 1) ผลลัพธ์จะได้ 1950
- ถ้าตัวเลข คือ -1995.5123 ใช้สูตร CEILING.MATH (-1995.5123, 50, 1) ผลลัพธ์จะได้ -2000
- ถ้าตัวเลข คือ -1901.4987 ใช้สูตร CEILING.MATH (-1901.4987,50, 1) ผลลัพธ์จะได้ -1950
CEILING.PRECISE
ฟังก์ชัน CEILING.PRECISE จะคล้ายกับ CEILING คือจะปัดเศษลงเป็นจำนวนเต็มที่ใกล้ที่สุดกับค่าจำนวนสำหรับปัดของตัวเลขที่กำหนด สูตรคือ
CEILING.PRECISE (ตัวเลข, จำนวนสำหรับปัด)
ซึ่งถ้าไม่ระบุจำนวนสำหรับปัด คือ จะกำหนดค่า 1 โดยอัตโนมัติ
ความแตกต่างระหว่าง CEILING กับ CEILING.PRECISE อยู่ที่ค่าจำนวนเท่า คือ ถ้าเป็นฟังก์ชัน CEILING ค่าบวกหรือลบจะมีผลต่อการคำนวณ ถ้ากำหนดจำนวนเท่า คือเป็นค่าติดลบ ถ้าจำนวนตัวเลข คือมีค่าบวก จะแสดงผลว่าผิดพลาดเพราะจำนวนเท่า คือติดลบคิดทวีคูณไม่ได้ ขณะที่จำนวนตัวเลข คือมีค่าลบจะแสดงผลโดยปัดเศษออกห่างจาก 0 (เพราะใช้ค่าลบเป็นตัวทวีคูณ)
เช่นถ้าจำนวนสำหรับปัดเป็น 0 ถ้าเป็น CEILING จะแสดงผลลัพธ์เป็น 0 (เพราะ 0 คูณอะไรก็ได้เท่ากับ 0) เช่นเดียวกับ CEILING.PRECISE
การปัดเศษ ด้วย INT
ฟังก์ชัน INT จะปัดเศษลงเป็นจำนวนเต็มที่ใกล้ที่สุด สูตรคือ
INT(ตัวเลข)
เช่น
- ถ้าตัวเลข คือ 1995.5123 ใช้สูตร INT (1995.5123) ผลลัพธ์จะได้ 1995
- ถ้าตัวเลข คือ 1901.4987 ใช้สูตร INT (1901.4987) ผลลัพธ์จะได้ 1901
- ถ้าตัวเลข คือ -1995.5123 ใช้สูตร INT (-1995.5123) ผลลัพธ์จะได้ -1996
- ถ้าตัวเลข คือ -1901.4987 ใช้สูตร INT (-1901.4987) ผลลัพธ์จะได้ -1902
สรุป
หวังว่าคงพอจะเข้าใจแนวทางการนำฟังก์ชันเกี่ยวกับการปัดเศษแต่ละอย่างไปใช้บ้าง ขอสรุปง่าย ๆ ดังนี้
- ถ้าใช้ Round จะปัดขึ้นหรือลง ยกเว้นจะกำหนดไปเลยว่า RoundUp RoundDown
- Floor ปัดลง
- Ceiling ปัดขึ้น
- Fixed คล้าย Round แต่ส่งผลลัพธ์เป็นข้อความ ไม่ใช่ตัวเลข
- INT คล้าย Round แต่ปัดเป็นจำนวนเต็ม
Discover more from Data Revol
Subscribe to get the latest posts sent to your email.