การปัดเศษ ด้วยฟังก์ชันใน Excel มีหลายวิธี จะว่าไป Excel ก็ทำฟังก์ชันมาช่วยสนับสนุนการทำงานให้ง่ายขึ้น ขณะที่ผู้ใช้งานอย่างเราก็เริ่มงงว่า ฟังก์ชันมันก็ดูคล้าย ๆ กัน จะทำแยกออกมาทำไม อย่างเช่นเรื่องปัดเศษนี่แหละ มีทั้ง Floor Round Int จะว่าไปก็คล้ายกันอยู่ บางอย่างก็ใช้แทนกันได้ แต่บางอย่างก็ต้องใช้เฉพาะเจาะจงกันไป ต้องดูเงื่อนไขที่เราต้องการ เช่น อยากจะปัดขึ้นอย่างเดียว หรือปัดลงอย่างเดียว หรือจะกำหนดว่าอยากจะให้ปัดเศษตามเงื่อนไขอื่น
เนื้อหาโดยรวม 🙂
การปัดเศษ ด้วย ROUND
ROUND เป็นฟังก์ชันที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปเมื่อปัดตัวเลขใน Excel โดยกำหนดว่าจะให้ปัดเศษที่หลักใด (หลักหน่วย หลักสิบ หลักร้อย…) การใช้ ROUND นี้จะมีทั้งปัดขึ้นและปัดลง แล้วแต่ว่าตัวเลขใดใกล้เคียงหลักที่กำหนดมากกว่า สมมติมีตัวเลข 1,495.5123 ถ้าเราอยากปัดเศษที่หลักหน่วย (ไม่มีทศนิยม) จะได้เป็น 1,496 (เพราะเศษเกินครึ่ง จึงปัดขึ้น) หรืออยากจะปัดเศษให้มีทศนิยม 2 ตำแหน่ง ก็จะได้ 1,495.51 (เพราะเศษต่อจากนั้นไม่ถึงครึ่ง เลยปัดลง) แบบนี้เป็นต้น
สูตรการใช้งานก็คือ
ROUND (ตัวเลข, จำนวนหลักที่ต้องการ)
โดย จำนวนหลักที่ต้องการ นี้ ถ้าเป็น 0 คือ ไม่มีทศนิยม ถ้าเป็น 1 คือทศนิยม 1 ตำแหน่ง ถ้าเป็น 2 คือทศนิยม 2 ตำแหน่ง และในทางกลับกัน ถ้าเป็น -1 คือ ปรับที่หลักหน่วย (ให้ลง 0) ถ้าเป็น -2 คือปรับที่หลัก 10 (ให้ลงเป็น 00)
เช่น
หากต้องการให้มีทศนิยม 2 ตำแหน่ง เราจะใส่เป็นเลข 2 เขียนเป็นสูตรได้ว่า ROUND (ตัวเลข, 2) ตัวอย่างเช่น
- ถ้าตัวเลขคือ 1,495.5123 ใช้สูตร ROUND (1,495.5123,2) ฟังก์ชันจะปรับทศนิยมจาก 4 ตำแหน่ง (หรือกี่ตำแหน่งก็ตาม) ให้กลายเป็นทศนิยม 2 ตำแหน่งที่ใกล้เคียงที่สุด ผลลัพธ์จะได้ 1495.51
- ถ้าตัวเลขคือ 1,234 ใช้สูตร ROUND (1,234,2) ผลลัพธ์จะได้ 1,234.00 หรือ 1,234 (ขึ้นอยู่กับการกำหนด Format Cell ด้วย)
หากต้องการให้เป็นจำนวนเต็มไม่มีทศนิยม ให้ใส่ 0 กำกับไว้ สูตรคือ ROUND (ตัวเลข, 0) ตัวอย่างเช่น
- ถ้าตัวเลข คือ 1,495.5123 ใช้สูตร ROUND(1,495.5123,0) ฟังก์ชันจะปัดเศษทศนิยม ไปเป็นจำนวนเต็มที่ใกล้เคียงที่สุดคือ 1,496
- ถ้าตัวเลข คือ 1,234 ใช้สูตร ROUND(1,234,0) ผลลัพธ์จะได้ 1,234 เพราะไม่มีเศษทศนิยมอยู่แล้ว
หากต้องการปัดขึ้นหรือลงทีละ 10 (เช่น 10 20 30 40…) ให้ใส่ -1 สูตรคือ ROUND (ตัวเลข, -1) ตัวอย่างเช่น
- ถ้าตัวเลขเป็น 1,495.5123 ใช้สูตร ROUND(1,495.5123,-1) จะปัดเศษในหลักสิบ ผลลัพธ์จะได้ 1,500 เพราะหลักหน่วยเกินครึ่งจึงปัดขึ้น)
- ถ้าตัวเลขเป็น 1,234 ใช้สูตร ROUND(1,234,-1) ผลลัพธ์จะได้ 1,230 (เพราะหลักหน่วยไม่ถึงครึ่ง เลยปัดลง)
ถ้าต้องการปัดขึ้นหรือลงที่ละ 100 (เช่น 100 200 300…)ให้ใส่ -2 สูตรคือ ROUND (ตัวเลข, -2)
- ถ้าตัวเลข คือ 1,495.5123 ใช้สูตร ROUND(1,495.5123,-2) จะปัดเศษในหลักสิบ ผลลัพธ์จะได้ 1,500 (เพราะจำนวนที่หลักสิบ เกินครึ่ง จึงปัดขึ้น)
- ถ้าตัวเลขที่ คือ 1,234 ใช้สูตร ROUND(1,234,-2) ผลลัพธ์จะได้ 1,200 (เพราะหลักสิบไม่ถึงครึ่งเลยปัดลง)

ฟังก์ชัน ROUND จะปัดเข้าหาตัวเลขที่ใกล้ที่สุดตามหลักที่กำหนด จึงมีทั้งปัดขึ้นและปัดลง หากต้องการบังคับให้ปัดเศษขึ้นหรือลงเท่านั้น จะใช้ฟังก์ชัน ROUNDUP หรือ ROUNDDOWN โดยสูตรจะเหมือนกับ ROUND ทุกประการ เพียงแต่กำหนดเจาะจงไปว่าจะให้ปัดขึ้นหรือลง
ROUNDUP
ROUNDUP ปัดเศษโดยกำหนดว่าปัดขึ้นเท่านั้น โดยมีวิธีเขียนสูตรเหมือนกับ ROUND ทั่วไป เช่น ถ้าต้องการปัดที่หลักหน่วย ให้ใส่ -1 ถ้าต้องการปัดที่หลักสิบให้ใส่ -2 เป็นต้น ตัวอย่างเช่น ต้องการจำนวนเต็มที่หลักสิบ สูตรคือ ROUNDUP (ตัวเลข, -2)
- ถ้าตัวเลข คือ 1,495.5123 ใช้สูตร ROUNDUP (1,495.5123,-2) ผลลัพธ์จะได้ 1,500
- ถ้าตัวเลข คือ 1,234 ใช้สูตร ROUNDUP (1,234,-2) ผลลัพธ์จะได้ 1,300

ROUNDDOWN
ROUNDDOWN คือการปัดตัวเลขโดยกำหนดว่าปัดลงเท่านั้น วิธีการและแนวคิดการใช้สูตรจะเหมือนกับ ROUND ทุกประการ คือ ถ้าต้องการปัดที่หลักหน่วย ให้ใส่ 0 ถ้าต้องการหลักสิบให้ใส่ -1 เป็นต้น ตัวอย่างเช่น ต้องการปัดลงเป็นจำนวนเต็มที่หลักสิบ สูตรคือ ROUNDDOWN (ตัวเลข, -2)
- ถ้าตัวเลข คือ 1,495.5123 ใช้สูตร ROUNDDOWN (1,495.5123,-2) ผลลัพธ์จะได้ 1,400 เพราะถึงแม้ว่าค่า 1,495.5123 จะใกล้เคียงกับ 1,500 มากกว่า แต่เราบังคับว่าจะต้อง “ปัดลง” อย่างเดียว จำนวนเต็มหลักร้อยที่ปัดลงใกล้เคียงกับ 1,495.5123 ก็คือ 1,400 บาท
- ถ้าตัวเลข คือ 1,234 ใช้สูตร ROUNDDOWN (1,234,-2) ผลลัพธ์จะได้ 1,200

ข้อสังเกต
การใช้ฟังก์ชัน ROUND ช่วยปัดเศษ อาจจะแสดงผลเหมือนกับการใช้ Custom Format Cell แต่ค่าที่เก็บใน Cell จะไม่เหมือนกัน เพราะการใช้ Custom Format Cell เปลี่ยนแค่การแสดงผล แค่ค่าที่แท้จริงยังคงเท่าเดิม แต่ ฟังก์ชัน ROUND จะเปลี่ยนค่าไปเลย เวลานำไปคำนวณอาจทำให้สับสนว่าทำไมได้ค่าไม่ตรงกันก็ได้ อย่างที่เคยเกิดกรณีคำถามว่า ทำไม excel คำนวณไม่ตรง
การปัดเศษ ด้วย FIXED
ฟังก์ชัน FIXED จะคล้ายฟังก์ชัน ROUND ปัดค่าตัวเลขเป็นเลขทศนิยมตามที่ระบุ แต่จะเก็บค่าในรูปแบบ Text หรือ ข้อความ
สูตรคือ
FIXED (ตัวเลข, [จำนวนทศนิยม], [จุลภาค - True or False])
ถ้า จำนวนทศนิยม เป็นค่าลบจะปัดเศษที่จำนวนเต็มแบบเดียวกับ ROUND ทุกประการ แต่ ผลลัพธ์ของฟังก์ชันนี้จะโดนแปลงรูปแบบข้อมูลเป็นข้อความ ดังนั้นถ้ากำหนดค่าตรง “ไม่ใส่จุลภาค” เป็น True ผลลัพธ์จะไม่ใส่จุลภาคคั่น ถ้าใส่เป็น False จะใส่จุลภาคคั่น (ย้ำอีกครั้งว่าจุลภาคในนี้มีค่าเป็นข้อความ ไม่ใช่เป็นเครื่องหมายคั่นหลักร้อย หลักหมื่นเหมือนมีค่าเป็นตัวเลข)
ในไวยากรณ์จะใส่ [ ] แปลว่านี่คือ option เสริม ไม่ต้องใส่ก็ได้ โดย ถ้าไม่ใส่กำกับไว้ ตัวฟังก์ชัน FIXED จะถือค่าเริ่มต้นเป็นทศนิยม 2 ตำแหน่ง และใส่เครื่องหมายจุลภาค (คือ False) นั่นคือ ถ้าเราใส่แต่ตัวเลข โดยไม่กำหนดค่าอื่น ๆ เช่น
- ถ้าตัวเลข คือ 1995.5123 ใช้สูตร FIXED (1995.5123) ผลลัพธ์จะได้ 1,995.51 เท่ากับใช้สูตร FIXED (1995.5123, 2, FALSE)
- ถ้าตัวเลข คือ 1901.4987 ใช้สูตร FIXED (1901.4987) ผลลัพธ์จะได้ 1,901.50 เท่ากับใช้สูตร FIXED (1901.4987, 2, FALSE)
- ถ้าตัวเลข คือ -1995.5123 ใช้สูตร FIXED (-1995.5123) ผลลัพธ์จะได้ -1,995.51 เท่ากับใช้สูตร FIXED (-1995.5123, 2, FALSE)
- ถ้าตัวเลข คือ -1901.4987 ใช้สูตร FIXED (1901.4987) ผลลัพธ์จะได้ -1,901.50 เท่ากับใช้สูตร FIXED (1901.4987, 2, FALSE)
ถ้ากำหนด “จุลภาค” เป็น True ผลลัพธ์ที่ออกมาจะไม่มีเครื่องหมายจุลภาคคั่น เช่นใช้สูตร FIXED ตัวเลข, 2, TRUE)
- ถ้าตัวเลข คือ 1995.5123 ใช้สูตร FIXED (1995.5123, 2, TRUE) ผลลัพธ์จะได้ 1995.51 เท่ากับใช้สูตร FIXED (1995.5123, 2, FALSE) แต่ไม่มีจุลภาคคั่น
- ถ้าตัวเลข คือ 1901.4987 ใช้สูตร FIXED (1901.4987, 2, TRUE) ผลลัพธ์จะได้ 1901.50 เท่ากับใช้สูตร FIXED (1901.4987, 2, FALSE) แต่ไม่มีจุลภาคคั่น
- ถ้าตัวเลข คือ -1995.5123 ใช้สูตร FIXED (-1995.5123, 2, TRUE) ผลลัพธ์จะได้ -1995.51 เท่ากับใช้สูตร FIXED (-1995.5123, 2, FALSE) แต่ไม่มีจุลภาคคั่น
- ถ้าตัวเลข คือ -1901.4987 ใช้สูตร FIXED (1901.4987, 2, TRUE) ผลลัพธ์จะได้ -1901.50 เท่ากับใช้สูตร FIXED (1901.4987, 2, FALSE) แต่ไม่มีจุลภาคคั่น

การปัดเศษ ด้วย FLOOR
ฟังก์ชัน FLOOR จะปัดตัวเลขลงสู่ตัวเลขโดยให้เป็นจำนวนเท่าของค่าที่กำหนดไว้ มีไวยากรณ์สำหรับเขียนสูตรคือ
FLOOR (ตัวเลข, จำนวนสำหรับปัด)
จำนวนสำหรับปัด นี้จะคิดเป็นจำนวน “เท่าทวีคูณ” เท่านั้น และเป็นอย่างเดียวกันทั้ง FLOOR และ CEILING (ทั้งสองฟังก์ชันมีไวยากรณ์สำหรับเขียนสูตรเหมือนกันทุกอย่าง เพียงแค่ FLOOR ปัดลง ส่วน CEILING จะปัดขึ้น)
เช่นต้องการปัดเศษ ตัวเลข 1995.5123 ทีละ 50
ใช้สูตร FLOOR จะเหลือ 1950 เพราะค่าเต็มของ 50 ที่ใกล้เคียง 1995.5123 ในข้างต่ำกว่า มากที่สุดคือ 1,950 (50×39 = 1950 ตัดเศษ 45.5123ทิ้ง) จะไม่ใช่ 2000 (50 x 40) แม้ว่าค่าจะใกล้เคียงกว่า เพราะ 2000 เป็นค่าสูงกว่า 1995.5123
ในทางกลับกัน ถ้าใช้สูตร CEILING จะได้ 2000 คือค่าเต็มที่คูณจำนวนสำหรับปัดแล้ว ได้ใกล้เคียงในค่าสูงกว่า
ตัวอย่างการปัดจำนวนลง โดยใช้ FLOOR มีดังนี้
- ถ้าตัวเลข คือ 1995.5123 ใช้สูตร FLOOR (1995.5123,50) ผลลัพธ์จะได้ 1950
- ถ้าตัวเลข คือ 1901.4987 ใช้สูตร FLOOR (1901.4987,50) ผลลัพธ์จะได้ 1900
- ถ้าตัวเลข คือ -1995.5123 ใช้สูตร FLOOR (-1995.5123,50) ผลลัพธ์จะได้ -2000
- ถ้าตัวเลข คือ -1901.4987 ใช้สูตร FLOOR (-1901.4987,50) ผลลัพธ์จะได้ -1950
FLOOR.MATH
ฟังก์ชัน FLOOR.MATH จะมีผลเฉพาะตัวเลขที่มีค่าลบเท่านั้น ถ้าเป็นค่าบวกจะได้ผลลัพธ์เหมือใช้ฟังก์ชัน FLOOR โดยฟังก์ชัน FLOOR.MATH จะใช้สูตร
FLOOR.MATH (ตัวเลข, จำนวนสำหรับปัด, ทิศทางเข้าหาหรือออกห่างจาก 0)
โดยพื้นฐานแทบไม่มีความแตกต่างระหว่าง FLOOR กับ FLOOR.MATH เพียงแค่เพิ่ม Mode หรือตัวแปรทิศทางการเข้าหาหรือออกห่างจาก 0 ที่ใส่เพิ่มเข้ามา ถ้าใส่ 0 จะหมายถึงปัดเศษตามปกติ หรือการไม่บังคับทิศทาง ผลคือค่าลบจะยิ่งลบมากขึ้น (เพราะปัดเศษเข้าหาค่าต่ำกว่า ถ้าไม่ใส่กำหนดทิศทาง ฟังก์ชันจะคำนวณเหมือนใส่ค่า 0 โดยอัตโนมัติ ตัวอย่างเช่น
- ถ้าตัวเลข คือ 1995.5123 ใช้สูตร FLOOR.MATH (1995.5123, 50, 0) ผลลัพธ์จะได้ 1950
- ถ้าตัวเลข คือ 1901.4987 ใช้สูตร FLOOR.MATH (1901.4987, 50, 0) ผลลัพธ์จะได้ 1900
- ถ้าตัวเลข คือ -1995.5123 ใช้สูตร FLOOR.MATH (-1995.5123, 50, 0) ผลลัพธ์จะได้ -2000
- ถ้าตัวเลข คือ -1901.4987 ใช้สูตร FLOOR.MATH (-1901.4987,50, 0) ผลลัพธ์จะได้ -1950
แต่ถ้ากำหนดค่าทิศทางเป็นเลขอื่นที่ไม่ใช่ 0 เช่นกำหนดค่า 1 หรือ -1 จะปัดค่าเข้าหา 0 ซึ่งนัยสำคัญนี้จะเห็นผลเมื่อตัวเลขมีค่าติดลบเท่านั้น
- ถ้าตัวเลข คือ 1995.5123 ใช้สูตร FLOOR.MATH (1995.5123, 50, 1) ผลลัพธ์จะได้ 1950
- ถ้าตัวเลข คือ 1901.4987 ใช้สูตร FLOOR.MATH (1901.4987, 50, 1) ผลลัพธ์จะได้ 1900
- ถ้าตัวเลข คือ -1995.5123 ใช้สูตร FLOOR.MATH (-1995.5123, 50, 1) ผลลัพธ์จะได้ -1950
- ถ้าตัวเลข คือ -1901.4987 ใช้สูตร FLOOR.MATH (-1901.4987,50, 1) ผลลัพธ์จะได้ -1900
FLOOR.PRECISE
ฟังก์ชัน FLOOR.PRECISE จะคล้ายกับ FLOOR คือจะปัดเศษลงเป็นจำนวนเต็มที่ใกล้ที่สุดกับค่าจำนวนเท่าของตัวเลขที่กำหนด สูตรคือ
FLOOR.PRECISE (ตัวเลข, จำนวนสำหรับปัด)
ซึ่งถ้าไม่ระบุจำนวนเท่า คือ จะกำหนดค่า 1 โดยอัตโนมัติ
ความแตกต่างระหว่าง FLOOR กับ FLOOR.PRECISE อยู่ที่ค่าจำนวนสำหรับปัด คือ ถ้าเป็นฟังก์ชัน FLOOR ค่าบวกหรือลบจะมีผลต่อการคำนวณ เช่นถ้ากำหนดจำนวนสำหรับปัดเป็น 0 ถ้าเป็น FLOOR จะแสดงผลว่ามีความผิดพลาดในตัวแปรที่กำหนด (เพราะ 0 คูณอะไรก็ได้ 0) แต่ถ้าเป็น FLOOR.PRECISE จะแสดงผลลัพธ์เป็น 0
หรือถ้า จำนวนสำหรับปัด เป็นค่าติดลบ ถ้าจำนวนตัวเลขมีค่าบวก จะแสดงผลว่าผิดพลาดเพราะจำนวนเท่า คือติดลบคิดทวีคูณไม่ได้ ขณะที่จำนวนตัวเลขมีค่าลบ

การปัดเศษ ด้วย CEILING
ฟังก์ชันที่ตรงข้ามกับ FLOOR แต่มีวิธีการคิดและเขียนเหมือนกัน
CEILING (ตัวเลข, จำนวนสำหรับปัด)
เช่นต้องการปัดตัวเลข 1995.5123 ทีละ 50 จะได้ 2000 เพราะค่าทวีคูณของ 50 ที่ใกล้เคียง 1995.5123 มากที่สุดคือ 2000 (50×40 = 2000 ปัดขึ้น) ลองดูตัวอย่าง การใช้ CEILING มีดังนี้
- ถ้าตัวเลข คือ 1995.5123 ใช้สูตร CEILING (1995.5123,50) ผลลัพธ์จะได้ 2000
- ถ้าตัวเลข คือ 1901.4987 ใช้สูตร CEILING (1901.4987,50) ผลลัพธ์จะได้ 1950
- ถ้าตัวเลข คือ -1995.5123 ใช้สูตร CEILING (-1995.5123,50) ผลลัพธ์จะได้ -1950
- ถ้าตัวเลข คือ -1901.4987 ใช้สูตร CEILING (-1901.4987,50) ผลลัพธ์จะได้ -1900
CEILING.MATH
ฟังก์ชัน CEILING.MATH จะมีผลเฉพาะตัวเลขมีค่าลบเท่านั้น ถ้าเป็นค่าบวกจะได้ผลลัพธ์เหมือใช้ฟังก์ชัน CEILING โดยฟังก์ชัน CEILING.MATH จะใช้สูตร
CEILING.MATH (ตัวเลข, จำนวนสำหรับปัด, ทิศทางเข้าหาหรือออกห่างจาก 0)
โดยพื้นฐานแทบไม่มีความแตกต่างระหว่าง CEILING กับ CEILING.MATH เพียงแค่เพิ่ม Mode หรือ “การกลับทิศ” ที่ใส่เพิ่มเข้ามา ถ้าใส่ 0 จะหมายถึง ไม่บังคับให้กลับทิศทางการปัด) ตัวอย่างเช่น
- ถ้าตัวเลข คือ 1995.5123 ใช้สูตร CEILING.MATH (1995.5123, 50, 0) ผลลัพธ์จะได้ 2000
- ถ้าตัวเลข คือ 1901.4987 ใช้สูตร FLOOR CEILING.MATH (1901.4987, 50, 0) ผลลัพธ์จะได้ 1950
- ถ้าตัวเลข คือ -1995.5123 ใช้สูตร CEILING.MATH (-1995.5123, 50, 0) ผลลัพธ์จะได้ -1950
- ถ้าตัวเลข คือ -1901.4987 ใช้สูตร CEILING.MATH (-1901.4987,50, 0) ผลลัพธ์จะได้ -1900
แต่ถ้ากำหนดค่าทิศทางเป็นเลขอื่นที่ไม่ใช่ 0 เช่นกำหนดค่า 1 หรือ -1 จะปัดค่าออกห่างจาก 0 ซึ่งนัยสำคัญนี้จะเห็นผลเมื่อตัวเลข คือมีค่าติดลบเท่านั้น
- ถ้าตัวเลข คือ 1995.5123 ใช้สูตร CEILING.MATH (1995.5123, 50, 1) ผลลัพธ์จะได้ 2000
- ถ้าตัวเลข คือ 1901.4987 ใช้สูตร CEILING.MATH (1901.4987, 50, 1) ผลลัพธ์จะได้ 1950
- ถ้าตัวเลข คือ -1995.5123 ใช้สูตร CEILING.MATH (-1995.5123, 50, 1) ผลลัพธ์จะได้ -2000
- ถ้าตัวเลข คือ -1901.4987 ใช้สูตร CEILING.MATH (-1901.4987,50, 1) ผลลัพธ์จะได้ -1950
CEILING.PRECISE
ฟังก์ชัน CEILING.PRECISE จะคล้ายกับ CEILING คือจะปัดเศษลงเป็นจำนวนเต็มที่ใกล้ที่สุดกับค่าจำนวนสำหรับปัดของตัวเลขที่กำหนด สูตรคือ
CEILING.PRECISE (ตัวเลข, จำนวนสำหรับปัด)
ซึ่งถ้าไม่ระบุจำนวนสำหรับปัด คือ จะกำหนดค่า 1 โดยอัตโนมัติ
ความแตกต่างระหว่าง CEILING กับ CEILING.PRECISE อยู่ที่ค่าจำนวนเท่า คือ ถ้าเป็นฟังก์ชัน CEILING ค่าบวกหรือลบจะมีผลต่อการคำนวณ ถ้ากำหนดจำนวนเท่า คือเป็นค่าติดลบ ถ้าจำนวนตัวเลข คือมีค่าบวก จะแสดงผลว่าผิดพลาดเพราะจำนวนเท่า คือติดลบคิดทวีคูณไม่ได้ ขณะที่จำนวนตัวเลข คือมีค่าลบจะแสดงผลโดยปัดเศษออกห่างจาก 0 (เพราะใช้ค่าลบเป็นตัวทวีคูณ)
เช่นถ้าจำนวนสำหรับปัดเป็น 0 ถ้าเป็น CEILING จะแสดงผลลัพธ์เป็น 0 (เพราะ 0 คูณอะไรก็ได้เท่ากับ 0) เช่นเดียวกับ CEILING.PRECISE

การปัดเศษ ด้วย INT
ฟังก์ชัน INT จะปัดเศษลงเป็นจำนวนเต็มที่ใกล้ที่สุด สูตรคือ
INT(ตัวเลข)
เช่น
- ถ้าตัวเลข คือ 1995.5123 ใช้สูตร INT (1995.5123) ผลลัพธ์จะได้ 1995
- ถ้าตัวเลข คือ 1901.4987 ใช้สูตร INT (1901.4987) ผลลัพธ์จะได้ 1901
- ถ้าตัวเลข คือ -1995.5123 ใช้สูตร INT (-1995.5123) ผลลัพธ์จะได้ -1996
- ถ้าตัวเลข คือ -1901.4987 ใช้สูตร INT (-1901.4987) ผลลัพธ์จะได้ -1902

สรุป
หวังว่าคงพอจะเข้าใจแนวทางการนำฟังก์ชันเกี่ยวกับการปัดเศษแต่ละอย่างไปใช้บ้าง ขอสรุปง่าย ๆ ดังนี้
- ถ้าใช้ Round จะปัดขึ้นหรือลง ยกเว้นจะกำหนดไปเลยว่า RoundUp RoundDown
- Floor ปัดลง
- Ceiling ปัดขึ้น
- Fixed คล้าย Round แต่ส่งผลลัพธ์เป็นข้อความ ไม่ใช่ตัวเลข
- INT คล้าย Round แต่ปัดเป็นจำนวนเต็ม
Comments
หนึ่งความเห็นตอบกลับที่ “การปัดเศษ”
[…] + ดูเพิ่มเติมที่นี่ […]