ระบบการอ้างอิงตำแหน่งแบบ R1C1 Notation หรือที่ภาษาไทยจะเป็น สัญกรณ์ R1C1 หรือเรียกอีกอย่างว่า Relative Notation (ตรงนี้อย่าสับสนกับ Relative References)
เชื่อหรือไม่ว่า สมัยที่ไมโครซอฟต์ทำ Multiplan สเปรดชีต หรือ ตารางคำนวณรุ่นแรก ที่พยายามออกมาแข่งกับ VisiCalc ซึ่งเป็นเบอร์หนึ่งในซอฟต์แวร์ประเภทตารางคำนวณในขณะนั้น ทางไมโครซอฟต์ตัดสินใจสู้ด้วยการเสนอระบบการอ้างอิง R1C1 แต่น่าเสียดายที่หลังจาก Multiplan ได้ไม่ถึงปี ทาง IBM ก็เอา Lotus 1-2-3 ออกมาวางจำหน่าย และกลายเป็นผู้นำในเรื่องสเปรดชีตแทน
เมื่อ Multiplan โดนยกเลิกและเปลี่ยนไปพัฒนา Excel แทน ทางไมโครซอฟต์ก็เปลี่ยนมาเป็นระบบ A1 Notation (อาจจะเพราะเห็นว่าผู้ใช้งานส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับระบบนี้จาก Lotus 1-2-3) แต่ R1C1 ก็ยังไม่หายไปไหน และในขณะที่ผู้ใช้งาน Excel ส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าโลกนี้มีการอ้างอิงแบบ R1C1 อยู่ด้วย แต่บางคนใช้งาน R1C1 เวลาเขียนโค้ดใน VBA โดยให้เหตุผลว่าสะดวกกว่า A1 Notation เพราะสะดวกในการตรวจสอบและค้นหาสูตรที่ผิดพลาดเวลาที่เราเขียนโค้ดโดยให้ความสำคัญกับตำแหน่งสัมพัทธ์ของเซลล์ (Relative References) มากกว่าตำแหน่งสัมบูรณ์ (Absolute References) ซึ่งในการเขียน VBA จะเห็นการเขียนอ้างอิงตำแหน่งเซลล์ในแบบนี้อยู่
เนื้อหาโดยรวม 🙂
เปลี่ยนมาใช้ R1C1 Notation
หากท่านต้องการให้ Excel แสดงการอ้างอิงแบบนี้ ให้ไปที่ Options เลือกแท็บ Formulas แล้วดูที่หัวข้อ Working with formulas ให้เลือกติ๊กถูกที่ R1C1 reference style

การเปลี่ยนนี้จะไม่กระทบต่อการอ้างอิงตำแหน่งในสูตร แค่แสดงลักษณะการอ้างอิงเท่านั้น
ระบบอ้างอิง R1C1
- ตำแหน่งของแถว จะอ้างอิงเป็นตัวอักษร R ตามด้วยตัวเลข R1 R2 R3 ไปเรื่อย ๆ จากบนลงล่าง
- ตำแหน่งของคอลัมน์ จะอ้างอิงเป็นตัวอักษร C ตามด้วยตัวเลข C1 C2 C3 ไปเรื่อย ๆ จากซ้ายไปขวา
- การอ้างอิงตำแหน่งเซลล์หรือช่อง ใช้ตำแหน่งคอลัมน์กับแถว เช่น R1C1 R2C3 R3C3
โดยทั่วไป ไม่ค่อยมีอะไรต่างจากระบบ A1 คือแทนที่จะใช้ตัวอักษรโรมันเป็นตัวระบุคอลัมน์ ระบบ R1C1 จะใช้ตัวเลขเป็นตัวระบุตำแหน่ง โดยมีการบอกว่าจะเป็น R – Row หรือ แถว กับ C – Column หรือ คอลัมน์ (สดมป์)
อ้อ ที่ต่างกันอีกอย่างก็คือ A1 จะระบุคอลัมน์ก่อนแล้วจึงเป็นแถว นั่นคือ คอลัมน์ A แถวที่ 1 แบบนี้เป็นต้น แต่ถ้าเป็นแบบ R1C1 จะเป็น แถว แล้วจึงเป็น คอลัมน์ นั่นคือ แถวที่ 1 คอลัมน์ที่ 1 แบบนี้เป็นต้น
R1C1 Notation – Relative References
มาถึงจุดเด่น ที่ทำให้คนที่ไม่คุ้นเคยงงบ้างดีกว่า สิ่งที่จะแตกต่างจาก A1 ชัดเจนที่สุดคือการอ้างอิงแบบ สัมพัทธ์ของเซลล์ (Relative References) หรือการอ้างอิงไปยังเซลล์ที่มีจำนวนแถวหรือคอลัมน์ที่สัมพันธ์กับเซลล์ที่ใช้ในสูตรได้
R1C1 จะมีวิธีระบุความสัมพัทธ์ของเซลล์โดยใส่วงเล็บเหลี่ยมที่ลำดับของแถวหรือคอลัมน์ที่อ้างอิง
- ถ้าเป็นการใส่ตัวเลข จะหมายถึง ไปด้านขวา หรือ ด้านล่าง จากตำแหน่งเดิม (คือ +)
- ถ้าเป็นการใส่เครื่องหมายลบหน้าตัวเลข จะหมายถึง ไปด้านซ้าย หรือ ขึ้นด้านบน จากตำแหน่งเดิม
ยกตัวอย่างเช่น
เราตั้งต้นที่ R3C5 (ก็คือ E3 ในแบบ A1)
ถ้าเราเขียนในช่อง R3C5 ว่า =R[2]C[3] จะหมายถึง ขยับจาก R3C5 ไปทางด้านล่าง 2 แถว และไปทางขวา 3 คอลัมน์ จะได้เป็น R5C8

ไม่งงนะ ทุกคน นี่คือจุดแตกต่างจาก A1 ที่คนไม่คุ้นเคยอาจงงนิดหน่อย แต่สักพักจะเข้าใจได้แน่นอน
ในเซลล์เดิม R3C5 ถ้าเราเขียนสูตรโดยอ้างอิงตำแหน่งว่า =RC[-2] จะหมายถึง ให้ขยับคอลัมน์ไปทางซ้าย (เพราะมีเครื่องหมายลบ) 2 คอลัมน์ โดยที่อยู่ในแถวเดิม นั่นคือ จะเป็นR3C3

หรือถ้าเราเขียนสูตรว่า =R[2]C1 จะหมายถึง R5C1 คือ ขยับไปที่ที่คอลัมน์ 1 แต่ให้ลงไปข้างล่าง 2 แถว

TIPS: โปรดสังเกต ถ้าใช้วงเล็บเหลี่ยมกำกับตัวเลข จะไม่มีตำแหน่งด้วยตัวเอง ต้องอ้างอิงจากตำแหน่งเดิมเท่านั้น
สรุป
ตอนที่ DataRevol.com หัดใช้ R1C1 ก็รู้สึกแปลก ๆ อยู่พอสมควรด้วยความที่ไม่คุ้นเคย แต่ผ่านไปสักพักก็พบว่าเป็นระบบที่ค่อนข้างยืดหยุ่นในการทำงานพอสมควร ซึ่ง ในอนาคตเมื่อเขียนถึงเรื่อง VBA แล้วจะเห็นคุณประโยชน์ของการอ้างอิงแบบนี้
ตอนนี้จำง่าย ๆ ว่า มันไม่ได้ซับซ้อนอะไร R คือ แถว C คือ คอลัมน์ ถ้าเราเขียน R3C5 คือการอ้างอิงตำแหน่งแบบคงที่ แต่ถ้าเราใส่วงเล็บเหลี่ยมเข้าไป หมายถึงการระบุการเคลื่อนตัวจากตำแหน่งนั้นทันที
ในการอ้างอิงแถวที่อยู่ด้านล่างและคอลัมน์ที่อยู่ข้างหน้าเซลล์ที่ใช้งานอยู่ คุณสามารถใช้จำนวนบวกได้
หากต้องการอ้างอิงถึงแถวที่อยู่ด้านบนและคอลัมน์ที่อยู่ด้านหลังเซลล์ที่ใช้งานอยู่ คุณสามารถใช้ตัวเลขติดลบได้
หากใช้หมายเลขแถวหรือคอลัมน์โดยไม่มีวงเล็บเหลี่ยม Excel จะถือว่าเป็นข้อมูลอ้างอิงแบบสัมบูรณ์
ถ้าหากเขียนถึงการใช้โค้ด VBA จะอธิบายเพิ่มเติมมากกว่านี้ แต่สำหรับผู้ใช้งาน Excel ทั่วไป DataRevol.com ยังคงแนะนำให้ใช้ A1 เหมือนเดิม