Mode เป็นฟังก์ชันเพื่อหา ฐานนิยม หรือ ค่าที่มีความถี่สูงสุด – ค่าที่มีเป็นจำนวนมากที่สุดในกลุ่มข้อมูล แต่ในบางชุดของข้อมูลอาจจะไม่มี ฐานนิยม ก็ได้ วิธีนี้จะแตกต่างกับการหาแนวโน้มสู่ส่วนกลางวิธีอื่น ๆ เช่น มัชฌิมเลขคณิต หรือ มัธยฐาน เพราะจะนับเฉพาะค่าที่มีความถี่สูงสุด หรือ ซ้ำกันมากที่สุด ซึ่งมักใช้กับข้อมูลเชิงคุณภาพ
ฟังก์ชันนี้ทำออกมาเพื่อใช้กับตัวเลขเท่านั้น แต่เราสามารถพลิกแพลงเพื่อใช้หาคำ หรือ ข้อความ ได้เช่นกัน
วิธีการหาฐานนิยม
สำหรับการหาฐานนิยม จะต้องดูว่า ในชุดข้อมูลที่มีนั้น มีข้อมูลใดซ้ำกันมากที่สุด ซึ่งอาจจะไม่มี หรือ มีมากกว่า 1 ค่าก็ได้ เช่น
ถ้าข้อมูลแต่ละค่าที่แตกต่างกัน มีความถี่เท่ากันหมด เช่น 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 จะไม่มีฐานนิยม เพราะทุกข้อมูล ไม่มีค่าซ้ำกัน คือ มีความถี่เท่ากับ 1 เท่ากันทุกข้อมูล ถือว่า ข้อมูลดังกล่าว ไม่มีฐานนิยม
ถ้าข้อมูลแต่ละค่าที่แตกต่างกัน มีความถี่สูงสุดเท่ากัน เช่น ข้อมูล 1 1 2 3 4 5 6 7 7 8 9 จะมีฐานนิยม 2 ค่า คือ 1 และ 7 เพราะมีค่า 1 จำนวน 2 ข้อมูล ค่า 7 จำนวน 2 ข้อมูล เป็นข้อมูลที่มีความถี่สูงสุดเท่ากับ 2 เท่ากัน ในลักษณะเช่นนี้ เราถือว่า ข้อมูลดังกล่าวมีฐานนิยม 2 ค่า คือ 4 และ 7
Mode ใน Excel
ใน excel จะมีฟังก์ชัน mode ซึ่งปัจจุบัน ทาง ไมโครซอฟต์ก็ไม่แนะนำให้ใช้ คือเป็นฟังก์ชันที่เตรียมจะไม่สนับสนุนหรือพร้อมจะยกเลิกในอนาคต เพราะได้ออกฟังก์ชันใหม่คือ MODE.MULT และ MODE.SNGL ออกมาให้ใช้แล้ว แต่สำหรับเวอร์ชันเก่าที่ยังไม่สนับสนุนการทำงานของฟังก์ชันใหม่ ๆ ก็ยังใช้งานฟังก์ชันนี้ได้อยู่ วิธีการเขียนสูตรก็คือ
MODE(ตัวเลข1,[ตัวเลข2],…)
เช่น เรามีข้อมูล 60 93 66 60 87 75 78 60 84 63 90 72 เราสามารถเขียนสูตรไปตรง ๆ คือ
MODE(60, 93, 66, 60, 87, 75, 78, 60, 84, 63, 90, 72)
หรือจะอ้างอิงตำแหน่ง Cell ก็ได้ เช่น
=MODE(C3:C14)
ซึ่งจะได้ผลลัพธ์เป็น 60
สำหรับการใช้ฟังก์ชันนี้ อาร์กิวเมนต์ต้องเป็นตัวเลข หรือ อาร์เรย์ หรือ การอ้างอิงที่มีตัวเลขอยู่
ถ้าการอ้างอิง มีข้อความ ค่าตรรกะ หรือเซลล์ว่างเปล่า ค่าเหล่านั้นจะถูกละเว้น (แต่เซลล์ที่มีค่าศูนย์จะถูกรวมไว้)
TIP: ข้อเสียของฟังก์ชันนี้ ก็คือ จะแสดงผลลัพธ์จากฐานนิยมตัวแรกที่พบ เช่น จากตัวอย่าง ข้อมูลทั้ง 2 ชุด จะมีตัวเลขเหมือนกัน จำนวนเท่ากัน เพียงแต่สลับตำแหน่งเท่านั้น ในข้อมูลชุดแรก excel พบค่าฐานนิยมของ 60 ก่อน จึงแสดงผลเป็น 60 แต่ข้อมูลอีกชุดหนึ่ง พบฐานนิยมของ 93 ก่อน จึงแสดงผลเป็น 93
MODE.SNGL
สำหรับฟังก์ชันใหม่ที่มาแทนของเดิม ก็คือ MODE.SNGL มีวิธีการทำงานเหมือนกันทุกประการ ซึ่งถ้าในชุดข้อมูลนั้น มีฐานนิยมหลายค่า จะแสดงค่าแรกที่เจอ
MODE.MULT
ในกรณีที่คิดว่า กลุ่มข้อมูลชุดนั้นจะมีฐานนิยมมากกว่า 1 ค่า และต้องการให้แสดงค่าทั้งหมด ควรใช้ MODE.MULT ซึ่งมีวิธีการเขียนสูตรเหมือนกันทุกประการ แต่จะแสดงค่าฐานนิยมออกมาทั้งหมด เรียงลำดับตามที่พบ (เป็นค่าอาร์เรย์ ตัวอย่างนี้ใช้ Microsoft 365 ซึ่งรองรับอาร์เรย์อัตโนมัติ ถ้า excel ที่ใช้ไม่รองรับ อาจจะต้องกด ctrl + shift + enter เพื่อบอกให้ excel รู้ว่าเป็นอาร์เรย์)
ใช้ฟังก์ชันกับข้อความ
สำหรับฟังก์ชันนี้ อย่างที่บอกตอนต้นว่า ใช้กับ “ตัวเลข” เท่านั้น ถ้าอยากนำไปหาฐานนิยมจากข้อความ จะต้องหาทริกในการแสดงผล
ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลชุดหนึ่งมีดังนี้
ส้ม ส้ม ส้ม แอ๊ปเปิ้ล มะละกอ กล้วย มะละกอ มะละกอ น้อยหน่า แตงโม โอโฮ อะไรดี ฮิ้วววววววว
ถ้าเราหา ฐานนิยม ของข้อมูลชุดดังกล่าวโดยใช้ฟังก์ชันของ Excel จะได้ผลลัพธ์เป็น #N/A หรือมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ซึ่งในที่นี้ความผิดพลาดเกิดจาก “ชุดข้อมูลไม่ใช่ตัวเลข”
ถ้าอยากใช้ฟังก์ชันนี้หาฐานนิยมของข้อความ เราต้องอาศัยฟังก์ชันอื่นเป็นตัวช่วย อย่างเช่น index & Match (กรุณาย้อนกลับไปอ่านเรื่องการใช้ index – match ที่เคยเขียนถึงแล้วประกอบด้วยนะจ๊ะ)
อธิบายแนวคิดการหาฐานนิยมที่เป็นข้อความใน excel
สิ่งที่เราจะทำคือ แปลงข้อมูลที่เป็นข้อความ ให้กลายเป็นตัวเลข โดยใช้ index-match เป็นตัวช่วย
แนวคิดสำหรับวิธีนี้ จะเริ่มต้นที่การใช้ match เพื่อแสดงตำแหน่งของค่าแต่ละค่า จากตัวอย่าง ข้อมูลจะอยู่ในD3 ถึง D15 เราจะใช้ match เพื่อหาตำแหน่งของคำในแต่ละ Cell จะใช้สูตรดังนี้
=MATCH(D3,$D$3:$D$15,0)
ใส่ $ เพื่อล็อกช่วงข้อมูล เพราะจะลากสูตร
ส่วน D3 จะเปลี่ยนไปในแต่ละช่อง คือจะเป็น D4 เรื่อยไปจนถึง D15
โปรดสังเกต สาม cell แรก จะแสดงค่าเป็น 1 เพราะ match จะแสดงตำแหน่งของค่าแรกที่พบ ซึ่ง D3 D4 D5 มีค่าเป็น “ส้ม” ทั้งหมด โดย ตำแหน่งแรกของ “ส้ม” อยู่ที่ D3 จะเป็นลำดับที่ 1 ดังนั้น เมื่อ Match พบคำว่า “ส้ม” จะแสดงลำดับว่า 1 เสมอ
ถึงตรงนี้ น่าจะพอเห็นภาพแล้วว่า เราจะให้ mode หาฐานนิยมได้อย่างไร ตรงนี้ทำให้เห็นว่าผลที่ออกมา ซึ่งจะเป็น อาร์เรย์ จะเป็นอย่างไร
สิ่งที่ทำต่อมาคือ เอา Mode มาครอบ และต้องไม่ลืมว่า การอ้างอิงต้องเปลี่ยนจากข้างบนเล็กน้อย เพราะตอนที่ทำ match ให้ดู จะใส่ตรงค่าค้นหาแค่อันเดียว (คือD3 ซึ่งจะลากเปลี่ยนไปในแต่ละ cell จนถึง D15) เนื่องจากจุดประสงค์ที่ทำขั้นตอนนั้นให้ดู ก็เพื่อให้เห็นว่า ถ้าทำเป็น อาร์เรย์ ผลลัพธ์ที่เอามาคิด คืออะไร
แต่เมื่อเราหาค่าฐานนิยม เราต้องเปลี่ยนให้เป็นอาร์เรย์ นั่นคือ D3:D15 (คือหาค่าทั้งหมด เพื่อให้ return ค่ากลับมาเป็นอาร์เรย์ข้อมูล) สูตรตรงนี้จะเป็น
=MODE(MATCH(D3:D15,D3:D15,0))
หรือ
=MODE.MULT(MATCH(D3:D15,D3:D15,0))
(แนะนำ MODE.MULT เพราะแสดงหลายค่าได้ อย่างที่เขียนถึงข้างต้น)
อย่าลืมว่า เมื่อเป็นอาร์เรย์ สำหรับ excel เวอร์ชันเก่า จะต้องกด Ctrl + Shift + Enter นะจ๊ะ มันจะขึ้น {} ครอบให้รู้ว่านี่คืออาร์เรย์
แต่ผลลัพธ์จะบอกว่า ตำแหน่งไหนเท่านั้น ถ้าอยากได้เป็นข้อความเลย ต้องเอา index ครอบอีกรอบ จะได้สูตรดังนี้
INDEX(D3:D15,MODE(MATCH(D3:D15,D3:D15,0)))
หรือ
INDEX(D3:D15,MODE.MULT(MATCH(D3:D15,D3:D15,0)))
ซึ่งต้องย้ำอีกครั้งว่าเป็น อาร์เรย์ สำหรับเวอร์ชันเก่า จะต้องกด Ctrl + Shift + Enter นะจ๊ะ
เรื่องของฐานนิยม หรือ การใช้ฟังก์ชัน mode ใน excel ก็น่าจะประมาณนี้ ถ้าจะหา median หรือ Mean โปรดอ่านเรื่องเก่า ๆ ที่เคยเขียนถึงไปแล้วประกอบก็แล้วกัน
Discover more from Data Revol
Subscribe to get the latest posts sent to your email.