Data Table เป็น ฟังก์ชันที่สร้างขึ้นมาเพื่อสถานการณ์ What-If Analysis ใครที่ต้องทำเรื่องวิเคราะห์ความเป็นไปได้ การคำนวณต้นทุน ปริมาณ กำไร คงต้องเคยใช้ฟังก์ชันเหล่านี้กันบ้างแล้ว
ยกตัวอย่างง่าย ๆ วิธีทำจะได้ไม่ซับซ้อน เราไม่พูดถึงต้นทุนคงที่ ต้นทุนผันแปร กำไรส่วนเกิน กำไรสุทธิอะไรให้ยุ่งยาก เอาตัวอย่างง่าย ๆ เลขไม่กี่ตัวก่อน เช่น
ถ้าขายสินค้า 1 ชิ้น ราคา 100 บาท ได้กำไร 10% ถ้ามีสินค้า 125 ชิ้น จะได้กำไรกี่บาท
ถ้าเป็นแบบนี้ก็ต้องมาคำนวณ ((10/100)*100)*125 = 1,250 บาท
พวก Work Hard แต่ไร้สมองอย่างข้าพเจ้าก็เขียนสูตรใน excel ประมาณนี้
เอ้า เพิ่มใหม่ แล้วถ้าราคา 101 102 103 104 105 … กำไร 10% เท่าเดิม จำนวนสินค้า 125 ชิ้นเท่าเดิมจะได้กำไรเท่าไหร่
พวก Work Hard แต่ไร้สมองอย่างข้าพเจ้าจะเริ่มขยายสูตร เอ้า ก็อปกันลงมา…เย่ ขอบคุณโลกใบนี้ที่สร้างสรรค์ Excel ให้มา
เอ้า เปลี่ยนใหม่จ้าเปลี่ยนใหม่ แล้วถ้าราคา 100 บาทเท่าเดิม แต่เอากำไร 10% 10.1 10.2 10.3 …จำนวนสินค้า 125 ชิ้นเท่าเดิมจะได้กำไรเท่าไหร่
พวก Work Hard แต่ไร้สมองอย่างข้าพเจ้าจะเริ่มขยายสูตร เอ้า ก็อปกันลงมา…เฮ่
เอ้า เปลี่ยนใหม่จ้าเปลี่ยนใหม่ แล้วถ้าราคา 100 บาทเท่าเดิม แต่เอากำไร 10% เท่าเดิม แต่จำนวนสินค้า 125 126 127 128 129 …. ชิ้นเดิมจะได้กำไรเท่าไหร่
พวก Work Hard แต่ไร้สมองอย่างข้าพเจ้าจะเริ่มมองค้อน ทำไมไม่บอกมาแต่แรกจะเอายังไง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แต่ก็ต้องทำ เปลี่ยนสูตร แล้วก็อปกันลงมา เห้ เอ๊ย เฮ่!
อันนี้ยกตัวอย่างที่สูตรคำนวณไม่ยาก แต่ถ้ามีข้อมูลที่ต้องคำนวณหลายขั้นตอนจะยุ่งยากพอสมควร ก็เลยมีพวก Work Smart เสนอหน้ามาช่วย น้อง ๆ ทำไมน้องไม่ใช่ Data Table ล่ะ
Data Table คืออะไร
ตัวอย่างตอนบนเป็นการหาข้อมูลเพื่อช่วยในการตัดสินใจ กับคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้า… จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราขึ้นราคาสินค้า? จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราลดต้นทุน? (กำไรเพิ่ม?) จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราขายสินค้าได้มากขึ้น? พวกนี้เป็น What-If Analysis
และ Data Table เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยสรุปคำตอบที่เป็นไปได้เพื่อใช้ตัดสินใจ
วิธีการทำงานของฟังก์ชันนี้ ก็คือนำค่าที่วางไว้บนหัวตารางหรือข้างตารางด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้าน ส่งต่อไปแสดงผลแทนสูตรที่บันทึกไว้ในเซล เมื่อค่าในเซลล์เหล่านั้นเปลี่ยนไปจะทำให้เซลที่เกี่ยวข้องคำนวณหาคำตอบใหม่
พูดง่าย ๆ เอ็กเซลจะวนลูปการคำนวณให้เราโดยไม่ต้องเขียนซ้ำ (หรือลากสูตร) อย่างเช่นการคำนวณหาว่า ถ้าราคา 101 102 103 104 105 … กำไร 10% เท่าเดิม จำนวนสินค้า 125 ชิ้นเท่าเดิมจะได้กำไรเท่าไหร่ ไม่จำเป็นต้อง copy สูตรสร้างใหม่
ในตัวอย่างเป็นสูตรง่าย ๆ ไม่กี่ขั้นตอนก็เลยไม่มีปัญหาอะไร (อยากเขียนตัวอย่างหลายขั้นตอนให้ซับซ้อนอยู่เหมือนกันแต่ขี้เกียจ) แต่บางทีสูตรต้องอ้างอิงตรงอื่น หากลากผิดลากเพี้ยน แม้ excel จะฉลาดขนาดไหนก็อาจพลาดได้เหมือนกัน สิ่งที่ทำอยู่ตรงนี้คือการใส่ตัวแปรเข้าไปโดยกำหนดว่าสูตรเดิมนะ (แน่นอนว่าท่านต้องสร้างสูตรที่ถูกต้องไว้ก่อน) พอใส่ตัวแปรที่อยากใส่แล้วก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงว่าต่างกันอย่างไร
จากตัวอย่าง เราอยากรู้ว่าถ้าราคาเปลี่ยนไป เราเอาราคาที่เปลี่ยนมาวางไว้เป็นคอลัมน์ (ด้านซ้าย) โดยอีกคอลัมน์หนึ่งจะมีผลลัพธ์จากการคำนวณ โดยหัวคอลัมน์ของคอลัมน์ผลลัพธ์จะเป็น สูตรตั้งต้น (C4 เป็นผลลัพธ์การคำนวณจากช่อง C1 ถึง C3 คือรายได้ทั้งหมด – ที่เป็นสูตร เพราะเราอยากให้มันคำนวณจากสูตรนี้) ลากครอบคลุมว่าจะเอาส่วนนี้เป็นส่วนทำงาน
ไปที่ Tab Data > What-If Analysis > Data Table มันก็จะขึ้นหน้าต่างเล็ก ๆ มาให้
หน้าต่างเล็ก ๆ จะบอกให้เราอ้างอิงสองส่วนคือ แถว (Row) กับ คอลัมน์ (Column) ตรงนี้เราต้องอ้างอิงกับเซลที่มันอยู่ ในตัวอย่างเราจะอ้างอิงการเปลี่ยนแปลงของราคา ในที่นี้ คอลัมน์คือราคาที่เปลี่ยนไป และราคาในสูตรอ้างอิงการคำนวณก็คือเซล C1 เราจึงต้องใส่ค่าที่ ช่อง Colume คลิกที่ C1 มันจะใส่ค่าให้พร้อม $ เพื่อตรึงตำแหน่ง
แล้วกด OK ก็ได้จะผลลัพธ์
แต่แค่นี้มันยังไม่เจ๋งพอ
คุณสมบัติอีกอย่างคือต้องใช้ในการหาข้อมูลเพื่อช่วยในการตัดสินใจ ตัวแปรต้องมากกว่า 1 คงจะเห็นแล้วว่าตอนกด สร้างพื้นที่ทำงานจะมีสองข้อมูลที่ใส่ได้ คือ แถวกับคอลัมน์ จากเดิมใส่แค่คอลัมน์อันเดียว ลองให้หาตัวแปรอีกตัว เช่น หาเปลี่ยนเปอร์เซ็นต์กำไรจะเป็นอย่างไร
ปรับตารางใหม่ ให้คอลัมน์ เป็นราคาขายที่เปลี่ยนแปลง และแถวด้านบนเป็นจำนวนเปอร์เซ็นต์ของกำไร ตอนนี้จะให้ แถว (Row) อ้างอิงตัวเลขกำไร ส่วน คอลัมน์ จะอ้างอิงตัวเลขราคาสินค้าที่เปลี่ยนไป
ทำเหมือนเดิม ลากพื้นที่จะคำนวณ แล้วไปที่ Tab Data > What-If Analysis > Data Table มันก็จะขึ้นหน้าต่าง ให้เราอ้างอิงสองส่วนคือ แถว (Row) กับ คอลัมน์ (Column) ตรงนี้เราต้องอ้างอิงกับเซลที่มันอยู่ ในตัวอย่างเราจะอ้างอิงการเปลี่ยนแปลงของราคาอยู่ที่คอลัมน์ ก็คือเซล C1 คลิกที่ C1 มันจะใส่ค่าให้พร้อม $ เพื่อตรึงตำแหน่ง ส่วนเปอร์เซ็นต์อยู่ที่แถว เราคลิกที่เซลล์อ้างอิง คือ C2 คลิกที่ C2 มันจะใส่ค่าให้พร้อม $ เพื่อตรึงตำแหน่ง
เพียงเท่านี้แอ็กเซลก็จะวนลูปคำนวณค่าตัวแปรให้เราโดยยุ่งยากน้อยกว่าเดิม
นี่แค่เป็นตัวอย่างเพื่อให้เห็นว่า ฟังก์ชันนี้ ทำอะไรได้ และมันยังทำได้มากกว่านี้ ถ้าต้องการดูตัวแปรกมากกว่า 2 ตัวล่ะ ถ้าต้องการรู้ช่วงการตัดสินใจล่ะ? เรื่องนี้จะเขียนถึงต่อไป
อ้างอิง จากเว็บไมโครซอฟต์