เนื่องจากได้เฝ้ามองการพัฒนา application บางตัว และระบบการการทำงานอีกสองระบบมาระยะหนึ่ง ตัวแรกก็น่าจะตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555 ระบบหนึ่งตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560 ที่กำลังพัฒนากันอยู่จนถึงตอนนี้แล้วยังไม่เห็นรูปร่าง กับอีกตัวที่พัฒนาภายหลังแต่เสร็จแล้ว
บางทีก็สงสัย ระบบราชการทุ่มเงินเหยียบพันล้าน เพียงเพื่อจะได้ระบบง่อย ๆ แบบนี้มาใช้หรือนี่? และเมื่อแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่ได้เห็นและสัมผัส ก็เจอแต่การโยนกันไปมา บริษัทรับจ้างก็บอกว่ากรรมการตรวจรับต้องการแบบนี้ (จริงหรือ?) กรรมการฯ ก็บอกว่า บริษัททำมาแบบนี้ ให้แก้ไม่แก้ ฯลฯ
สมมติเช่น การแสดงผลว่า ห้องชุดที่มีราคาประเมินต่อตารางเมตร แพงที่สุด คืออาคารชุดไหน ชั้นไหน ซึ่งในระบบมีให้แสดงผลผ่านแผนที่
โดยสามัญสำนึกเนาะ เวลาแสดงผลอะไรแบบนี้ ก็ควรแสดงเป็น point แสดงตำแหน่งที่ตั้งอาคารชุดนั้น
แต่นี่แสดงผลเป็น polygon แสดงพื้นที่ทั้งอำเภอ
เอาอะไรคิด…บ้าบอที่สุด
แต่ที่น่าหงุดหงิดที่สุดคือการออกแบบหน้าตาวิธีการใช้งาน ราวกับหลุดมาจากเทคโนโลยียุค 80!
อันนี้หงุดหงิดจริง ๆ นะ เหมือนว่าสักแต่ทำงานให้เสร็จโดยไม่สนใจห่าเหวอะไรเลย เท่าที่มีโอกาสได้ร่วมฟังทางฝั่งผู้พัฒนาแอ็ป/ระบบ มีแต่คนพูดถึงการออกแบบตาม “ความต้องการ” (ซึ่งในที่นี่คือ TOR) เมื่อถามว่า ไม่ได้สอบถามวิธีการทำงานจริงว่าเป็นแบบใดหรือ ก็ได้คำตอบว่ามีการเก็บ Requirement แล้ว
แต่ดูจาก flow งานแล้วมั่นใจว่าฝ่ายผู้จัดทำระบบไม่เข้าใจกระบวนการทำงาน ถ้าเริ่มต้นยังไม่รู้ว่าจะใช้งานอะไรแบบไหน ก็ไม่แปลกใจที่ แอ็ปจะออกมาแย่ หรือ ไม่คำนึงถึง Usability Design (การออกแบบให้ใช้ทำงานสะดวก) อันนี้มันก็เป็นเรื่องที่น่าเสียใจอยู่
ว่าแต่ UI/UX คืออะไร

UI = User Interface ตรงนี้มีคนแปลว่า “ส่วนติดต่อผู้ใช้” บ้างก็แปลว่า “หน้าจอผู้ใช้” คือสิ่งที่ผู้ใช้งานมองเห็นผ่านอุปกรณ์ทำงาน
UX = User eXperience ส่วนนี้คือประสบการณ์ของผู้ใช้งาน คือเรื่องความสะดวก ตอบสนองการใช้งาน ยาก – ง่าย
ในฐานะที่ออกแบบแอ็ปไม่เป็น (เอาจริงก็ทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง) แถมยังโง่เรื่องเทคโนโลยีก็เลยเข้าใจได้โดยเร็วว่าเรื่องนี้มันสำคัญมากในแบบที่ ใครมองข้ามเรื่องนี้ไปสนใจแต่ TOR นี่คือคนใจทมิฬหินชาติอุบาทว์มาก สมควรตกนรกหมกไหม้บรรลัยกัลป์เสียเถิด
ยกตัวอย่าง การอัปโหลดแผนที่ ให้อัปโหลดได้ทีละแผ่น อันนี้คือการออกแบบที่เฮงซวยมาก อย่างเขตหนองจอก มีแผนที่มาตราส่วน 1: 1000 ประมาณพันกว่าแผ่น ต้องอัปโหลด 1000 ครั้ง ตายห่ากันพอดี
UX เป็นหัวใจของการออกแบบทุกประเภท คุณเป็นสถาปนิกออกแบบบ้าน คุณก็คงอยากลูกค้าที่อยู่ในบ้านรู้สึกสะดวกสบายเหมือนอยู่บ้านตัวเอง ไม่ใช่อาศัยคนอื่นอยู่ แบบนี้เลย หัวใจของการออกแบบ
ถ้านึกไม่ออก ขอให้นึกถึงโฆษณาน้ำมันพืชยี่ห้อหนึ่ง จับเรื่องฝาที่จะดึงจุกปิดขวดน้ำมันพืชมักจะขาดติดมือ ทางบริษัทจึงออกโฆษณาว่าถ้าเป็นน้ำมันพืชของตัวเอง ที่ดึงจุกสำหรับเปิดฝาจะแข็งแรง เปิดง่าย ไม่ต้องลุ้นว่าที่ดึงจะขาดติดมือ อันนี้ก็คือการออกแบบที่อาศัย UX หรือ User eXperience ตรง ๆ
นอกเรื่องนิด มีซีรีย์ญี่ปุ่นเรื่อง ATELIER เป็นเรื่องเด็กสาวจบใหม่ไปเริ่มทำงานในร้านออกแบบชุดชั้นในประเภท made to order เรื่องนี้แนะนำให้คนที่สนใจเรื่องปรัชญาการออกแบบ ได้ลองดู มันตอบโจทย์หลายเรื่องเลยล่ะ
คือจะเริ่มต้นอะไร ต้องนึกถึงการออกแบบ หรือเรียกเก๋ ๆ ว่าดีไซน์ ถึงเรามั่นใจว่าออกแบบชั้นในลวดลายสวย ใช้วัสดุดี แต่สิ่งแรกที่ควรคิดคือความพึงพอใจของลูกค้า นี่คือปรัชญาการออกแบบของทุกสรรพสิ่งในโลก
ATELIER
ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านเคยใช้บริการ BaseCamp หรือไม่ ตัวนี้เป็นซอฟต์แวร์ด้านบริหารโครงการกับสื่อสารระหว่างสมาชิกทีม การออกแบบหน้าตา เรียบง่ายมาก แต่ใช้งานได้ดีมาก คนใช้งานง่าย สะดวก ทำความเข้าใจกระบวนการทำงานได้ในไม่กี่นาที

คำว่าเรียบง่ายไม่ได้แปลว่าไม่สวย แต่เข้าใจว่าคนออกแบบน่าจะคำนึงถึง ประสบการณ์การใช้งาน ก่อน แล้วค่อยออกแบบหน้าตาแอ็ปตาม และคงไม่เน้น UI เท่าไหร่ เพราะจุดมุ่งหมายของ basecamp อยู่ที่การใช้งานอยู่แล้ว และมีสิ่งที่ BaseCamp คิดเกี่ยวกับ UX เช่น การทำงานที่เป็นกระบวนการ 1 – 2 – 3 – 4 – 5 – 6 – 7 มันไม่จริงหรอก และก็ไม่ผิดที่จะเขียนกระบวนการ 1 – 2 – 3 – 4 – 5 – 6 – 7 เวลาคุณเขียนโปรเจ็กต์ก็ต้องเขียนขั้นตอนกระบวนการอยู่แล้ว (เช่น 1 เตรียมข้อมูล 2 ลงข้อมูลในแผนที่ ไปจน 7 การทำร่างบัญชี มีแกรนต์ชาร์ตระบุช่วงเวลาสวยงาม รายงานผลตรงเป๊ะ) แต่ในการทำงานจริงมีอะไรเกิดขึ้นจะทำให้กระบวนการนั้นสะดุด เช่นขั้นตอน 1 – 2 ยังไม่เสร็จ แต่ต้องทำขั้นตอน 3 ก่อน แล้วย้อนกลับไปทำ ขั้นตอน 2 หรือทำควบคู่กันไป
ตรงนี้คือหัวใจของการออกแบบ ที่คนออกแบบ ต้องเรียนรู้ผู้ใช้งานแล้วนำมาพัฒนาแอ็ป ซึ่ง BaseCamp ทำได้ดีมาก
UX มันไม่ใช่เรื่องของสิ่งที่เห็นในหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือในไอแพด หรืออุปกรณ์สมาร์ตโฟนต่าง ๆ มันคือการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งาน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำงาน นั่นคือการสื่อสารที่ดี ไม่ว่าจะเป็นสินค้า หรือบริการที่ลูกค้าจะต้องใช้งานหรือใช้บริการ ซึ่งเราควรวิเคราะห์ Algorithm หรือตั้ง flowchart ให้ชัดเจนเสียก่อน
การออกแบบตาม TOR เป็นแค่ทำแอ็ปเพื่อให้ใช้งานได้ (Usability) เท่านั้นเป็นสิ่งไร้ความสร้างสรรค์ที่นักออกแบบที่มีความภาคภูมิใจในอาชีพของตนเองพึงละอาย การใช้ตัวชี้วัดเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เช่น จำนวนของอะไรสักอย่าง สมมติ จำนวนกระดาษกี่แผ่น หรือ จำนวนการเข้าชมเว็บมันคือสิ่งที่เล็กน้อยจนแทบไม่มีสาระสำคัญ
ทำไมถึงหลงลืมเรื่อง การใช้ทรัพยากรที่เหมาะสม (Resource) ความสามารถในการเรียนรู้ (Learnability) การตอบสนองด้านอารมณ์และพฤติกรรมต่อสินค้าและบริการ (Emotional and Behavioral Response)

สมมตินะ
ออกแบบเว็บไซต์หรือแอ็ปที่เกี่ยวกับแผนที่การเดินทาง คุณใส่ข้อมูลประดามีในมือในเว็บ ออกแบบสวยงาม แต่พอผู้ใช้งานอยากจะปักหมุดลงแผนที่เพื่อกำหนด POI แต่กว่าจะกดปักหมุดต้องใส่ข้อมูลห่าเหวอะไร คลิกแล้วคลิกอีก ขยับไปแค่ 50 เมตรก็ต้องเริ่มขั้นตอนใหม่ แบบนี้บ้าหรือเปล่า? จะสั่งค้นหาถนน ดันได้แต่พิกัด X,Y แล้วจะบอกแท็กซี่อย่างไร ไปละติจูดนี้ ลองติจูดนี้ เอาแบบนี้เหรอ?
บางทีเจอแบบนี้ก็นึกว่าคนออกแบบมันหลุดมาจากโลกไหนวะ?